ธปท.ห่วงคนไทยแบกหนี้เรื้อรัง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.ห่วงคนไทยแบกหนี้เรื้อรัง

Date Time: 20 ก.ค. 2566 05:31 น.

Summary

  • นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีความกังวลกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย (จีดีพี) ซึ่งล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้อยู่ในระดับสูงถึง 90.6%

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีความกังวลกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย (จีดีพี) ซึ่งล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้อยู่ในระดับสูงถึง 90.6% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ความมั่นคงของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ที่ควรจะอยู่ประมาณ 80% ของจีดีพี โดยในเบื้องต้นหนี้ของคนไทยที่ ธปท.เป็นห่วง มี 4 ประเภท คือ 1.หนี้เสียเกิน 3 เดือนหรือหนี้เอ็นพีแอล ที่ต้องเร่งแก้ไขช่วยเหลือ 2.หนี้เรื้อรัง หรือลูกหนี้รายได้น้อย ที่ไม่สามารถที่จะผ่อนหนี้ได้หมดเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถผ่อนหนี้หมดไป 3.หนี้ที่เกิดขึ้นเร็วตั้งแต่ผู้กู้อายุน้อย และพบว่าหนี้ส่วนนี้มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียสูง และ 4.หนี้นอกระบบ

“ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการเพื่อหาทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง โดยใน 4 กลุ่มนี้ กลุ่มที่ ธปท. มองว่า สามารถออกมาตรการแก้ไข หรือช่วยเหลือได้เร็วที่สุด และจำเป็นต้องเร่งช่วยมากที่สุด คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง ซึ่งเบื้องต้นลูกหนี้ที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง จะพบว่า เป็นลูกหนี้มีรายได้น้อยอยู่ในกลุ่มเปราะบาง แต่มีหนี้สะสมที่ผ่อนไม่จบนานกว่า 5 ปี และหนี้รายงวดที่เป็นการผ่อนดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น ซึ่งทำให้ผ่อนเท่าไรเงินต้นก็ไม่ลดลง และไม่สามารถปลดหนี้ก้อนนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีบัตรเครดิต เท่าที่ ธปท. พบบางกรณี หากผ่อนชำระตามเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างสม่ำเสมอ อาจจะต้องใช้เวลาถึง 100 เดือนจึงจะชำระหนี้ได้หมด ซึ่งในข้อเท็จจริง ไม่ได้จบเท่านั้น เพราะหากระหว่างนั้นมีการกู้ใหม่ยิ่งทำให้ระยะเวลาการจบหนี้ช้าไปอีก”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ธปท.จะออกเกณฑ์ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในการแก้หนี้ครัวเรือนออกมา โดยเฉพาะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดยธนาคารพาณิชย์ต้องมีความรับผิดชอบตั้งแต่การโฆษณา หรือออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว การดูแลการให้สินเชื่อที่เหมาะสมกับรายได้ของผู้กู้ ดูแลในระหว่างที่เป็นหนี้ และมีทางออกในการปรับโครงสร้างหนี้กรณีที่ไม่สามารถส่งหนี้ได้ ส่วนกรณีหนี้เรื้อรัง หากธนาคารพาณิชย์ตรวจพบ ให้ยื่นข้อเสนอให้กับลูกหนี้เพื่อปรับหนี้ดังกล่าว เช่น หนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลให้เป็นหนี้ที่มีเวลาชำระชัดเจน ไม่เกิน 5 ปี และลดดอกเบี้ยลงให้ต่ำกว่า 15% เพื่อให้ลูกหนี้สามารถที่จะปิดจบหนี้ได้ แต่จะต้องแลกกับการปิดสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลเดิม เพื่อลดการก่อหนี้เพิ่มของลูกหนี้ที่เข้าโครงการ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ