เศรษฐกิจไทยครี่งปีหลัง ในมุมมอง KKP Research เติบโตแต่เปราะบาง การเมืองเขย่ามู้ดนักลงทุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจไทยครี่งปีหลัง ในมุมมอง KKP Research เติบโตแต่เปราะบาง การเมืองเขย่ามู้ดนักลงทุน

Date Time: 20 ก.ค. 2566 09:44 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • KKP Research ฉายภาพเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2566 แม้เห็นแนวโน้มเติบโต แต่ยังมีความเสี่ยง การเมืองเขย่าความเชื่อมั่น ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อต้นสิงหาคม ประเมินดอกเบี้ยสหรัฐฯ กว่าจะลดลงลากถึงกลางปี 2567 ฟากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2566 ขยายตัว 4.2%

Latest


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKPFG) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจโลกบนเวที "2H2023 Investment Outlook and Opportunities" ว่า เศรษฐกิจโลกปัจจุบันอยู่ในธีมที่เรียกว่า divergence คือวัฏจักรเศรษฐกิจไม่ได้วิ่งในวงจรเดียวกัน แต่เศรษฐกิจโดยรวมของโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัว ภาคบริการแกร่ง เงินเฟ้อสูง จ้างงานดีขึ้น 

กรณีเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประเมินว่าจะเป็น Soft Landing และอาจจะไปชะลอตัวในไตรมาสแรกปี 2567 ซึ่งต่างจากที่ประเมินเมื่อต้นปีนี้ที่มีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดการชะลอตัวปีนี้ และเชื่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ไม่ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างปี 2551 แล้ว

แม้วงจรการผลิตสหรัฐฯ ชะลอตัวรวดเร็วต่อเนื่อง แต่ภาคบริการแข็งแกร่ง เมื่อเจอปัญหาภาคการผลิตก็ยังมีภาคบริการช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ไม่เจอกับการชะลอตัวมากนัก ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาก็เริ่มกลับมาจึงทำให้ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะนี้มีตัวขึ้นและตัวลงที่ชดเชยกันให้ภาพรวมไม่ลงแรงเกินไป

ส่วนเศรษฐกิจไทยในวันนี้ยังไม่สามารถวิเคราะห์หรือ Predict อะไรได้มากนัก แม้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ผ่านมา 2 เดือนแล้ว ซึ่งทำให้ปัจจุบันหลายฝ่ายอยู่ในโหมดเกียร์ว่าง รัฐบาล เอกชน นักลงทุน รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศก็รออยู่ เวลาเล่าเรื่องการเมืองไทย ก็มีความซับซ้อนยากต่อการอธิบายพอสมควร

สถานการณ์เหล่านี้ เมื่อมองเป็นภาพระยะยาวก็จะกระทบเศรษฐกิจ กระทบ Sentiment การลงทุน และเป็นห่วงความเสี่ยงที่อาจเกิดการชุมนุมประท้วง ซึ่งจะกระทบ Sentiment ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวจักรหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้

อีกข้อกังวลถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2566 คือการพบสัญญาณการขยายตัวของการปล่อยกู้ (loan Growth) เป็นศูนย์ สะท้อนว่าในระบบเศรษฐกิจไม่มีสินเชื่อใหม่มาเติม ขณะที่ยังมีประเด็นเรื่องคุณภาพหนี้ ฐานงบดุลภาคครัวเรือน ที่ก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่

ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อไทย ปัจจุบันเงินเฟื้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.3% ซึ่งลงมาต่ำกว่ากรอบแล้ว และเงินเฟ้อทั่วไปก็ลดลงมามากแล้ว จากที่เคยขึ้นไปพีกถึง 9% อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าปีนี้ ธปท.จะยังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกสักครั้ง และคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้นเดือนสิงหาคมนี้ (2 ส.ค.) ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้ไปอยู่ที่ 2.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.00% ต่อปี และน่าจะเป็นการจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว 

ด้าน ดร.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKPFG) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว แต่ก็ช้า โดยเศรษฐกิจไทยตอนนี้ขยายตัวได้แค่ระดับใกล้ๆ ก่อนโควิด แต่ยังไม่เข้าใกล้ตัว trend ของเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจในภูมิภาค อีกทั้งยังมีเครื่องจักรตัวเดียวขับเคลื่อนคือ การท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินจีดีพีไทยปีนี้ไว้ที่ 3.3% ซึ่งไม่ได้แย่ แต่ก็ชมาจากปีที่แล้วฐานต่ำ และที่น่าสังเกตคือจีดีพีที่ขยายตัว 3.3% มาจากภาคท่องเที่ยว 4.4% ขณะที่ภาคส่งออกภาคการลงทุนติดลบ 

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยสหรัฐฯ ดร.ณชา ประเมินว่า กลางปี 2567 จึงจะเห็นสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯยังอยู่ที่ 4% ทั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีเป้าหมายให้เงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ขณะที่ราคาสินค้าในภาคบริการไม่ได้ลงเร็ว ดังนั้นจึงคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะไม่ได้ลงเร็ว 

ในวันเดียวกันนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.2% ดีกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคเติบโตดี

และหัวใจสำคัญ คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29 ล้านคน ส่วนกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่ออกมาไม่ค่อยดี ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทย ทั้งปีแทบจะไม่เติบโต ทำให้ ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ทั้งปี ขยายตัวอยู่ที่ 3.6% 

ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ในประมาณการ ธปท.ได้รวมสมมติฐานไปหมดแล้ว และมองว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลมีแนวโน้มยืดเยื้อ ล่าช้า งบประมาณประจำปี 2567 จะล่าช้าไป 1 ไตรมาส แต่กระบวนการยังเป็นไปตามปกติ งบประจำยังเบิกจ่ายใช้ได้ ส่วนที่หายไปคือ งบลงทุน แต่ก็ไม่ได้มีสัดส่วนมาก ดังนั้นจะไม่กระทบปีนี้ แต่จะไปกระทบปี 2567

ด้านอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 0.23% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากฐานในปีที่ผ่านมาสูง และปัจจัยเฉพาะชั่วคราวจากที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยค่าไฟ ราคาอาหาร ราคาพลังงานโลกลดลง แต่ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยชั่วคราว และคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัว สะท้อนจากภาคการท่องเที่ยว ทำให้หมวดบริการมีโอกาสกระตุ้นเงินเฟ้อ และธุรกิจจะส่งผ่านไปที่ต้นทุน อีกทั้งเมื่อมีรัฐบาลใหม่ และมีการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการใช้จ่ายภาครัฐ อาจเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ดังนั้นการดำเนินนโยบายของ ธปท.ที่ผ่านมา จึงให้ความสำคัญกับข้อมูลเศรษฐกิจ และจะดูแนวโน้มเศรษฐกิจภาพรวม ส่วนการขยับดอกเบี้ยจะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยดูปัจจัยเชิงระยะยาว และหาจุดสมดุล 3 เรื่อง ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ 2. เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% และ 3. ไม่สร้างปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อรักษาสมดุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์