น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์ รูฟท็อป โดยผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ยังไม่สามารถให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป หรือระบบ “Net Metering” ได้ โดยให้คงมาตรการเดิมคือให้ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือดังกล่าวขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท และได้ประเด็นข้อขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ มีเหตุผลหลักๆ
1.การส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ในเดือนถัดไป เป็นการทำธุรกรรมซื้อ ขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนและการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและเกิดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับ
2.ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลกระทบทำให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุล เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์มีความผันผวนและไม่แน่นอน
3.ต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะแปรผันไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศต้องรับภาระต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยหรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป เนื่องจากต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อป จะถูกกระจายกลับไปสู่ค่าเอฟที
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้า ในประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีประเด็นที่น่าสนใจคือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้เสนอขอความเห็นชอบแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกครั้ง หลังเคยเสนอเข้า ครม.มาแล้ว และสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ กกต.มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบ ทำให้ในครั้งนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แย้งว่า เมื่อ กกต.ไม่อนุมัติ ไม่จำเป็นต้องเข้า ครม.อีก แต่ต้องไปชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมกับ กกต.ว่าทำไมจึงเอาคนเดิม สุดท้ายที่ประชุม ครม.จึงถอนวาระดังกล่าว.