ขับเคลื่อนสินค้าเข้าถึงผู้บริโภค เทรนด์ใหม่ใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ขับเคลื่อนสินค้าเข้าถึงผู้บริโภค เทรนด์ใหม่ใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง

Date Time: 10 ก.ค. 2566 05:10 น.

Summary

  • สนค.แนะผู้ประกอบการใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสื่อสารเทรนด์ใหม่ช่วยขับเคลื่อนให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภค

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

สนค.แนะผู้ประกอบการใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสื่อสารเทรนด์ใหม่ช่วยขับเคลื่อนให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภค

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามแนวโน้มการใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual Influencer) ซึ่งเป็นตัวละครสมมติที่ถูกออกแบบโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิกให้มีลักษณะคล้ายกับคนจริงๆ และมีตัวตนอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น ยูทูบ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และติ๊กต่อก รวมทั้งเป็นตัวแทนของแบรนด์หรือสินค้า ทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสื่อสาร และโต้ตอบกับผู้ที่ติดตามบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นๆ พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่างๆได้นำอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงมาใช้ในการขับเคลื่อนการทำธุรกิจ และช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง นอกจากจะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดายแล้ว ผู้สร้างยังสามารถกำหนดคาแรกเตอร์ของตัวละครสมมติได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ลักษณะนิสัย การแสดงออก หรือไลฟ์สไตล์ ทำให้ธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆสามารถใส่ลักษณะพิเศษบางอย่างเพิ่มเข้าไปได้ เพื่อให้ตัวละครตอบโจทย์สินค้าหรือบริการได้ตรงจุด อีกทั้งการที่เป็นตัวตนเสมือนทำให้มีข้อได้เปรียบมากกว่ามนุษย์ตรงที่ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ สุขภาพ หรือเวลา (ยกเว้นผู้สร้างเลิกทำต่อ) และไม่มีชื่อเสียงเสียหายจากพฤติกรรมในอดีตที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้า

สำหรับตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงชื่อดัง เช่น Lil Miquela ลูกครึ่งบราซิล-อเมริกัน อายุ 19 ปี อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงยุคบุกเบิกของสหรัฐฯ มีผลงานเพลงเป็นของตัวเอง และทำงานร่วมกับหลายแบรนด์ดัง อาทิ Givenchy, Off-White, Prada, Calvin Klein นอกจากนี้ ยังมี Noonoouri แฟชั่นนิสต้าวัย 19 ปี จากเยอรมนี ได้ร่วมงานกับนิตยสารแฟชั่นและแบรนด์สินค้า อาทิ Dior, Valentino, Kim Kardashian’s KKW Beauty รวมถึงงานสารคดีเรื่อง Seaspiracy ของ Netflix และ Ai Ailynn อายุ 21 ปี สร้างโดยบริษัท SIA Bangkok บริษัทเอเจนซีด้านอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงโดยเฉพาะแห่งแรกของไทย

นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงได้เข้ามาตีตลาดในอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย อาทิ อุตสาหกรรมบันเทิง โดยเกาหลีใต้ ประเทศผู้นำอุตสาหกรรมบันเทิง ได้เปิดตัวไอดอลเสมือนจริงแล้วหลายคน อาทิ วง MAVE วง PLAVE และวง Eternity หรือแม้แต่วงการสงฆ์ก็เข้าสู่โลกเสมือนจริงได้ โดยเมื่อปี 64 ไทยได้เปิดตัวพระมหาเอไอ ซึ่งเป็นพระเสมือนจริงคนแรกของไทย มีเป้าหมายเพื่อเป็นสื่อเผยแพร่คำสอนทางพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่

“การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการในการเข้าถึงผู้บริโภค แต่ก็ต้องระวังการโปรโมตสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย อาทิ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุง หรืออาหารเสริม เนื่องจากเป็นตัวละครสมมติ จึงทำให้สินค้าหรือบริการไม่มีผลต่ออินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงได้ ดังนั้น การใช้ช่องทางนี้อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อถือหรือคิดว่าเป็นการประชาสัมพันธ์เกินจริง ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการ และเลือกช่องทางการทำการตลาดที่เหมาะสมด้วย” นายพูนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 64 บิสิเนสไวร์ (Business Wire) รายงานว่า ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกมีมูลค่า 13,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯและคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 109,370 ล้านเหรียญ ภายในปี 71 และจากการสำรวจของอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง แฟคตอรี่ (Influencer Marketing Factory) ซึ่งได้รวบรวมความเห็นจากชาวอเมริกันมากกว่า 1,000 ราย ที่มี อายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า 58% ของผู้ตอบแบบ สอบถาม ติดตามแอ็กเคาต์ของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง อย่างน้อย 1 แอ็กเคาต์ ขณะที่ 35% ซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่โปรโมตโดยอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ