ฉากทัศน์ใหม่ของภาคใต้ นโยบายที่มีชีวิต

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ฉากทัศน์ใหม่ของภาคใต้ นโยบายที่มีชีวิต

Date Time: 7 ก.ค. 2566 05:14 น.

Summary

  • หนังสือพระสยามของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุดที่มี ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ สายองค์กรสัมพันธ์ เป็นบรรณาธิการ น่าสนใจมาก

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

หนังสือพระสยามของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุดที่มี ดร.ชญาวดี  ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ สายองค์กรสัมพันธ์ เป็นบรรณาธิการ น่าสนใจมาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ให้ไปหาคำตอบว่า จะพัฒนาแต่ละภูมิภาคของประเทศอย่างไร ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเติบโตและเข้มแข็งจนยืนหยัดได้ด้วยความโดนเด่นของตัวเอง เพราะประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ

ในเล่มมีคำตอบมากมาย คำตอบหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ภาคใต้” ที่ผมคิดว่า รัฐบาลใหม่และนักการเมืองในภาคใต้ สามารถนำไปใช้เป็นหลักในการสร้างนโยบายพัฒนาภาคใต้ได้เลย

คำตอบนี้เป็น “ฉากทัศน์ใหม่ของภาคใต้ที่ไม่ได้มีแค่ SEA SAND SUN” จากคนในพื้นที่ คุณโสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ และ คุณสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา คุณสมพล เห็นว่า การทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหลายฝ่ายจำเป็นต้องเห็นภาพตรงกัน เราเลยมีการทำฉากทัศน์ขึ้นมาให้เห็นว่า ถ้าเราอยู่แบบเดิม ขายการท่องเที่ยวแบบเดิม แล้วเน้นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ฉากทัศน์นี้ หากไม่ทำอะไรเลย อนาคตไม่รอดแน่ๆ และยังส่งผลกระทบทุกด้าน ถ้าเราใช้ทรัพยากรในอัตรานี้ในอีกห้าปีสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

เราเอาข้อมูลมากาง ไม่ใช่เสนอแค่ความคิด พอเขาเห็นตรงกัน ก็จะทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัวว่า เขาต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างในการไปสู่ฉากทัศน์ที่เราอยากเห็นร่วมกันได้จริง

เช่น เราพูดถึงการทำให้ภาคใต้เป็น Medical and Wellness Center หรือเป็น Creative Sustainable Tourism การจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามแนวทางนี้ เราต้องทำอะไรบ้างที่สำคัญ ถ้าเราทำฉากทัศน์นี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ เราจะขยายผลต่อยอดไปยังภูมิภาคอื่นได้ด้วย เช่น Andaman Wellness Corridor ก็ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มเขตอันดามัน แต่ทำได้ทั่วประเทศ พอการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทราบก็มีการทำกลุ่มเขตจังหวัดเพื่อสุขภาพ 9 เขตในไทย กลายเป็น Thailand Wellness Corridor มีการนำโมเดลนี้ไปปรับใช้ตาม บริบทของจังหวัดอื่น ทำให้เห็นว่า ถ้าเรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มี sandbox ให้เริ่มทำ มันก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อชุมชน ภูมิภาค และประเทศ

คุณโสภี จากแบงก์ชาติภาคใต้ก็ให้ความเห็นว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ ถ้าเราให้ในสิ่งที่เขาอยากได้ มันจะมีประโยชน์มากกว่า จึงเป็นที่มาของ Flagship Project ของสำนักงานภาคใต้ คือ การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เช่น โครงการ Fin.Forward สำหรับเยาวชนระดับมัธยม และ โครงการ Fin.Connect สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย โครงการให้ความรู้ทางการเงินสำหรับคนทำงาน จะเห็นว่าสมัยนี้เขาไปพูดเรื่องการลงทุนกันแล้ว พูดเรื่องการออมอย่างเดียวไม่พอแล้ว

คุณสมพล ให้ความเห็นถึงคนรุ่นใหม่ในภาคใต้ว่า สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ จะทำอย่างไรให้เรามีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากพอที่จะดึงให้คนรุ่นใหม่อยู่กับเรา หรือดึงคนเก่งเข้ามาเพิ่ม ที่เห็นชัดอีกอย่างคือ คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้สนใจการทำธุรกิจอย่างเดียว เขาสนใจสังคมด้วย เป็น Social Enterprise ผมไม่เคยคิดอยากไปที่อื่น เห็นความพร้อมของภาคใต้หลายด้าน เราอยากร่วมพัฒนาศักยภาพบุคลากรไปพร้อมกับเพิ่มมูลค่าให้ทรัพยากรที่มีอยู่ ถ้าเราทำงานร่วมกัน ผมเชื่อว่าฉากทัศน์ต่างๆที่เราวาดภาพไว้ก็จะเป็นจริงในเร็ววัน

วันนี้เอกชนคนรุ่นใหม่ภาคใต้พร้อมแล้ว รัฐบาลใหม่พร้อมไหม?

พูดถึงเรื่อง การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน วันที่ 7–9 กรกฎาคมนี้ วารสารการเงินธนาคาร มีการจัดงาน มหกรรมการเงิน Money Expo หาดใหญ่ ครั้งที่ 13 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ ถือเป็น แหล่งความรู้ทางการเงินการลงทุนชั้นยอดที่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้จิรง คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเงินการลงทุนแวะไปเรียนรู้ของจริงได้ครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ