อานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว “สินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต” พุ่งติดลมบน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว “สินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต” พุ่งติดลมบน

Date Time: 13 มิ.ย. 2566 06:10 น.

Summary

  • “ทีดีอาร์ไอ-เคทีซี” ประสานเสียงสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิตยังไปได้ต่อ รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้น-ท่องเที่ยวหนุน การจ้างงาน-บริโภคเพิ่มขึ้น ทีดีอาร์ไอยันตั้งรัฐบาลช้าไป 1-2 เดือน ไม่กระทบการลงทุน บิ๊กเคทีซี วาดฝันปั๊มพอร์ตสินเชื่อทะลุ 1 แสนล้านบาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

“ทีดีอาร์ไอ-เคทีซี” ประสานเสียงสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิตยังไปได้ต่อ รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้น-ท่องเที่ยวหนุน การจ้างงาน-บริโภคเพิ่มขึ้น ทีดีอาร์ไอยันตั้งรัฐบาลช้าไป 1-2 เดือน ไม่กระทบการลงทุน บิ๊กเคทีซี วาดฝันปั๊มพอร์ตสินเชื่อทะลุ 1 แสนล้านบาท

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ โครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเสวนา KTC FIT Talks #9 จับเข่าคุยเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจสินเชื่อ เพื่อผู้บริโภคครึ่งหลังปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะเติบโตสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยตลอดทั้งปีเติบโต 3.5% สูงกว่าปี 2565 ที่เติบโต 2.6% เพราะได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออกไปตลาดจีน การจ้างงาน การบริโภค และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ที่เป็นผลดีให้สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตจะเติบโตตามไปด้วย

“สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.5% เพราะได้นำปัจจัยเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ารวมไปแล้ว โดยในไตรมาส 4 ของปีนี้รัฐบาล สามารถใช้งบในกรอบวงเงินเดิม ไม่สามารถใช้งบลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพหรือมีความไม่สงบเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในการตัดสินใจลงทุน แต่หากตั้งรัฐบาลล่าช้า 1-2 เดือน ไม่มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติมากนัก หากลากยาวไป 5-6 เดือน นักลงทุนต่างชาติก็คงไม่รอ เพราะเขามีความต้องการ ที่จะลงทุนชัดเจน”

สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน และ 35.5 ล้านคนในปี 2567 ส่วนเงินเฟ้อปีนี้ประเมินว่าอยู่ที่ 2.50% เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่ยังมีแรงกดดันจากอีกหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนของผู้ผลิตที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค จากการฟื้นตัวด้านอุปสงค์ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยดอกเบี้ยนโยบายของไทยปีนี้อยู่ที่ 2.50% ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 33.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานบริหารการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัว เพราะข้อมูลของทีดีอาร์ไอเป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อมูลของ ธปท. เป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ โดยจะส่งผลบวกให้ภาพรวมของอุตสาหกรรม บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัวมากขึ้น โดยตลอดทั้งปีนี้ยอดสินเชื่อรวมเติบโตสูงกว่า 10% และพยายามผลักดันให้เติบโต 15% หรือเกิน 100,000 ล้านบาท

“ไตรมาส 1 เคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 14.8% อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 22.5% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่ 17.7% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัท เท่ากับ 12.2% มีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรม 3.8%”

ขณะที่ การขยายตัวของภาคเศรษฐกิจเมื่อไตรมาส 1 ส่งผลให้เคทีซีดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายและมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยสำคัญคือ การที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ทำให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว และเมื่อมีการเปิดประเทศได้ส่งให้การเดินทางท่องเที่ยวขยายตัว และสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอีก 0.25% หรือจาก 2.0% เป็น 2.25% และส่วนจะปรับขึ้นอีก 0.25% อีกครั้งหรือไม่ ต้องรอในช่วงปลายปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ