หวั่นโรงงานย้ายหนีค่าแรง 450 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หวั่นโรงงานย้ายหนีค่าแรง 450 บาท

Date Time: 26 พ.ค. 2566 05:15 น.

Summary

  • สภาฯต้องการให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนและรอบคอบในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพราะหากขึ้นแบบกระชากไปสู่ระดับ 450 บาท/วันทันทีจะเกิดภาพที่ซ้ำรอยในอดีตของสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศปี 2556 ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่และการลงทุนใหม่ๆที่เน้นการใช้แรงงานจำนวนมากก็จะไม่เกิดขึ้นอีก

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า สภาฯต้องการให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนและรอบคอบในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพราะหากขึ้นแบบกระชากไปสู่ระดับ 450 บาท/วันทันทีจะเกิดภาพที่ซ้ำรอยในอดีตของสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศปี 2556 ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่และการลงทุนใหม่ๆที่เน้นการใช้แรงงานจำนวนมากก็จะไม่เกิดขึ้นอีก

“ปี 2556 ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน เราจึงได้เห็นการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งสิ่งทอ รองเท้า โรงงานปลากระป๋อง และชิ้นส่วนบางประเภท ย้ายฐานไปเพื่อนบ้านหมดโดยเฉพาะเวียดนาม เพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างการผลิต ห้องแถวที่เคยรับจ้างเย็บเสื้อกีฬาแบรนด์ดังๆหายหมด รอบนี้เราก็จะเกิดซ้ำรอยอีก เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมบ้านเราส่วนใหญ่ยังคงเน้นใช้แรงงานเรายังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค”

นายธนิตกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงที่สูงในช่วงที่ผ่านมามีผลทำให้ปัจจุบันการส่งออกของไทยที่เคยเป็นผู้นำในภูมิภาค รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดต่ำลงจนทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงการส่งออกสูงนี่คือเหตุผลว่าทำไมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยในระยะ 10 ปีจึงลดต่ำลง ซึ่งเรื่องการเพิ่มค่าแรงสภาฯไม่ได้คัดค้าน หากแต่ต้องทำแบบมีขั้นตอนและต้องไม่มองข้ามในเรื่องของประสิทธิภาพของแรงงานด้วย ขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของค่าแรงแรกเข้าเท่านั้นเพื่อดูแลกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งขณะนี้แรงงานคนไทยส่วนใหญ่ได้รับเกินกว่าที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่เมื่อค่าแรงขั้นต่ำหากมีการปรับเพิ่มจะทำให้แรงงานเดิมในขณะนี้ที่ได้รับ 450 บาท/วันอยู่แล้ว นายจ้างก็ต้องปรับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทย 90% เป็นเอสเอ็มอีอาจรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้และสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปยังราคาสินค้าเพราะต้นทุนผู้ผลิตเพิ่มขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ