กลิ่นความเจริญ ส่องนโยบายเศรษฐกิจก้าวไกล ที่ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กลิ่นความเจริญ ส่องนโยบายเศรษฐกิจก้าวไกล ที่ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม

Date Time: 15 พ.ค. 2566 19:37 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • Thairath Money ชวนส่องนโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล นอกเหนือจากนโยบายหลัก ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม

Latest


หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศชัยชนะการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปี 2566 พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้แฮชแท็ก #นายกคนที่30 พุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์

โดยเสียงส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน และรู้สึกมีความหวังในการพัฒนาประเทศ รวมถึงพร้อมจับตาการทำงานของพรรคก้าวไกลหลังเป็นรัฐบาล

Thairath Money ชวนส่องนโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล นอกเหนือจากนโยบายหลัก ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม

ยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล คือ การเติบโตอย่างเป็นธรรม (Inclusive Growth) ด้วยการทำให้เศรษฐกิจเติบโตพร้อมกับกระจายการพัฒนาอย่างเป็นธรรม ผ่านการผลักดัน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง (Firm Ground) การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Game) และการผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่เติบโตไปพร้อมกับซัพพลายเชนโลก (Fast Forward Growth)

การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง (Firm Ground) 

นโยบายหวยใบเสร็จ ช่วย SME

SME ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพราะยิ่งระบบเศรษฐกิจมี SME จำนวนมาก ยิ่งแสดงถึงระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งจะทำให้เกิด นวัตกรรม สินค้าและบริการใหม่ๆ ปัจจุบันไทยมี SME 3 ล้านราย และมีการจ้างงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ที่ผ่านมา SME อ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะต้องเจอต้นทุนในการทำธุรกิจที่เท่ากับธุรกิจขนาดใหญ่ นโยบายนี้จึงมุ่งยกระดับ SME และช่วยแต้มต่อให้สามารถแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เมื่อซื้อสินค้าจาก SME ครบ 500 บาท จะสามารถแลกรับสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และ จำนวน 10 ล้านคน/เดือน) สำหรับคนขาย หรือผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท จะสามารถแลกรับสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ

การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Game)

นโยบายหลังคาสร้างรายได้ สนับสนุนการติดโซลาร์เซลล์ตามครัวเรือน 

ประเทศไทยที่มีอัตราการว่างงานต่ำมากเพียง 1.2% หรือมีคนว่างงานราว 500,000 คน อาจทำให้คนทั่วไปมองว่าการจ้างงานไม่เป็นปัญหา แต่มีตัวเลขคนที่เสมือนว่างงาน คือทำงานต่ำกว่า 24 ชม. ต่อสัปดาห์ อยู่สูงถึง 2 ล้านคน ซึ่งชั่วโมงการทำงานที่น้อยหมายถึงค่าจ้างที่ได้ก็จะลดลง ตามจำนวนชั่วโมงทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่ได้เป็นเขตอุตสาหกรรม ดังนั้นนโยบายหลังคาสร้างรายได้ จึงมุ่งสร้างงานและเพิ่มรายได้ที่มั่นคงนอกเหนือจากงานในภาคเกษตร โดยส่งเสริมการติดโซลาร์เซลล์ตามครัวเรือน ด้วยระบบ net metering เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในครัวเรือน และสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนเกินจากพลังงานแสงอาทิตย์กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด รวมถึงประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ หากยังไม่มีตลาดที่ 2.2 บาทต่อหน่วย นโยบายนี้จะทำให้เกิดการจ้างงานด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าให้รองรับระบบ net metering

การผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่เติบโตไปพร้อมกับซัพพลายเชนโลก (Fast Forward Growth)

นโยบายส่งออกได้ รัฐให้ bonus รัฐส่งเสริมงานสร้างสรรค์ที่เจาะตลาดเวทีโลกได้

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท มีคนทำงานในอุตสาหกรรมราว 900,000 แต่ปีที่ผ่านมามีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ “ซอฟต์พาวเวอร์” เพียง 60 ล้านบาท และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับงบประมาณเพียง 300 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมรับงบประมาณต่อปีกว่า 7,000 ล้านบาท 

ปัญหาจึงไม่ใช่เพียงแค่งบประมาณที่จำกัด แต่เพราะรัฐบาลมองวัฒนธรรมเป็นเรื่องตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงเลือกที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแบบเดิมๆ พรรคก้าวไกลจึงมีนโยบาย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นจากพื้นฐาน คือ เปลี่ยนภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรมใหม่ เปิดพื้นที่เสรีภาพ ปรับโครงสร้างอำนาจ เพิ่มงบประมาณส่งเสริมงานสร้างสรรค์ ทลายทุนผูกขาด เติมตลาดให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ โดยรัฐจะช่วยสมทบงบประมาณให้กับผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หนังสือ หรืองานศิลปะต่างๆ หากส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ รัฐจะช่วยสมทบในอัตรา 50% ของมูลค่าที่ส่งออก (ส่งออกได้ 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท)

นโยบายสร้างอุตสาหกรรมชิปในประเทศ

ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เนื่องจากขาดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทำให้ผลิตภาพการผลิตอยู่ในระดับต่ำ และโตช้าต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงวัย ที่จะทำให้กำลังแรงงานหดตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งอุตสาหกรรมที่เคยเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจก็ถูก disrupt ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงจำเป็นต้องมีนโยบายที่จะต้องเร่งสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตขึ้นมาทดแทน 

โดยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า (Power Electronics) ตั้งแต่ต้นน้ำ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ไฟฟ้าสมัยใหม่ เช่น รถ EV อุปกรณ์ชาร์จเร็ว สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว และมีแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายที่ออกแบบมาเพื่อผู้ลงทุนแต่ละรายและจำกัดเฉพาะเครื่องมือแบบเดิมๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ครอบคลุมถึงการให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ ทั้งการสร้างบุคลากร เงินอุดหนุน งานวิจัย สาธารณูปโภค

นโยบายเปลี่ยนข้อมูลเป็นขุมทรัพย์

ข้อมูลเปรียบเหมือนน้ำมันดิบในโลกยุคใหม่ บทบาทของรัฐภายใต้รัฐบาลก้าวไกล จะปรับเปลี่ยนเป็นผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล 3 อย่าง ได้แก่ 

1. การพัฒนามาตรฐานข้อมูลและสร้าง “ถนนข้อมูล” ที่จะทำให้ข้อมูลสามารถเชื่อมโยงกันได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

2. การสร้างกฎจราจรให้มีกลไกควบคุมเรื่องความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองความปลอดภัย และ

3. การสร้างพื้นที่จัดเก็บทรัพยากรข้อมูลให้พร้อมใช้ เป็นขุมทรัพย์สำหรับภาคเอกชน นำมากลั่นสร้างธุรกิจแพลตฟอร์มบริการใหม่ๆ ต่อยอดมูลค่าให้สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดด ช่วยลดต้นทุนและกำแพงในการริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ เช่น การมีข้อมูลด้านสุขภาพที่ครอบคลุมสามารถช่วยให้ประชาชน มีทางเลือกประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละคนได้ดีขึ้นด้วยราคาที่ถูกลง

นโยบาย 1 เมือง 1 พิพิธภัณฑ์

การท่องเที่ยวกลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้สำคัญของประเทศสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องความกระจุกตัวอยู่เฉพาะในจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และขาดยุทธศาสตร์ในการหารายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ทำให้เกิดปัญหาคอขวดของการพัฒนา แหล่งท่องเที่ยวรับนักท่องเที่ยวมากเกินกำลัง จนไม่มีเวลาฟื้นฟูทรัพยากรตัวเอง

ในขณะที่หลังโควิด ได้เกิดเทรนด์การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวแบบ workation การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและนโยบายเพื่อรองรับ เพื่อเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยว และกระจายโอกาสไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ

โดยจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ในทุกเมืองเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางของการสร้างเรื่องเล่าในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พื้นที่ โดยพิพิธภัณฑ์ในแต่ละจังหวัดนั้น จะดูแลและบริหารโดยกลไกของท้องถิ่น เป็นสำคัญโดยภาครัฐส่วนกลางจะจัดสรรงบเพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวของท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

นโยบายกาสิโนถูกกฎหมาย รัฐกำกับดูแล

ปัจจุบันมีธุรกิจที่ผิดกฎหมายแต่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีมาตรการปราบปรามที่จริงจังจนสุดท้ายกลายเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การฟอกเงินของผู้ค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ รวมไปถึงไปถึงการกดขี่ลูกจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

การนำธุรกิจที่แต่เดิมผิดกฎหมายและอยู่ใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดินโดยมีการกำกับควบคุมอย่างเข้มข้นจะเป็นทางออกที่จะสามารถควบคุมการดำเนินธุรกิจและปิดช่องโหว่ได้จริง อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เข้ารัฐในรูปแบบของภาษีและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้อีกด้วย

โดยอนุญาตให้ เสนอให้มีกาสิโนอย่างถูกกฎหมายโดย

- จำกัดอายุผู้เล่น ไม่ต่ำกว่า 20 ปี

- จำกัดฐานะของผู้เล่น โดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ที่จะมีสิทธิเล่นได้ ยึดตามรายได้ที่แจ้งต่อสรรพากรในปีภาษีก่อนหน้า

- จำกัดจำนวนกาสิโน โดยถ้าจังหวัดไหนจะมีกาสิโนได้ ต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. กำหนดพื้นที่และจำนวนกาสิโนที่จะออกใบอนุญาตได้

- มีคณะกรรมการการพนันและขันต่อเป็นผู้ออกใบอนุญาต รวมทั้งกำหนดประเภทของการพนันและขันต่อที่จะมีในกาสิโนได้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์