เงินสะพัดเปิดเทอม 5.7 หมื่นล้าน รายได้ปานกลางเงินไม่พอจ่ายต้องกู้-จำนำ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เงินสะพัดเปิดเทอม 5.7 หมื่นล้าน รายได้ปานกลางเงินไม่พอจ่ายต้องกู้-จำนำ

Date Time: 9 พ.ค. 2566 05:09 น.

Summary

  • เปิดเทอม เงินสะพัด 5.7 หมื่นล้านบาท สูงสุดรอบ 14 ปี ใช้จ่ายเฉลี่ยเกือบคนละ 2 หมื่นบาท เหตุค่าบำรุงการศึกษา อุปกรณ์ การเรียนแพงขึ้น ผู้ปกครองบางส่วนเงินไม่พอ ต้องกู้เงิน จำนำทรัพย์สิน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เปิดเทอม เงินสะพัด 5.7 หมื่นล้านบาท สูงสุดรอบ 14 ปี ใช้จ่ายเฉลี่ยเกือบคนละ 2 หมื่นบาท เหตุค่าบำรุงการศึกษา อุปกรณ์ การเรียนแพงขึ้น ผู้ปกครองบางส่วนเงินไม่พอ ต้องกู้เงิน จำนำทรัพย์สิน บางรายถึงขั้นให้พักการเรียน/ลาออกมาหางานทำ พร้อมร้องรัฐปฏิรูปการศึกษา หลังหลักสูตรปัจจุบันทำเด็กเครียด

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยถึงผลสำรวจประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม ที่สำรวจประชาชน 1,230 ตัวอย่างทั่วประเทศ วันที่ 1-5 พ.ค.66 ว่า การสำรวจปี 66 ประเมินจะมีมูลค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม 57,885 ล้านบาท เพิ่ม 5.30% เทียบปี 62 ที่มีค่าใช้จ่าย 54,972 ล้านบาท (ปี 63-65 ไม่ได้สำรวจ เพราะมีโควิด และเรียนออนไลน์) สูงสุด รอบ 14 ปีตั้งแต่เริ่มสำรวจปี 53 คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 19,507 บาท เพิ่ม 6.6% จากปี 62 ที่เฉลี่ย 18,299 บาท เพราะค่าบำรุงโรงเรียนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน รองเท้า/ถุงเท้า ค่าเรียนพิเศษ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ปกครอง 63.5% บอกว่า มีเงินเพียง พอสำหรับใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม แต่จำนวนนี้ถึง 50.3% นำเงินออมมาใช้จ่าย อีก 46.8% นำเงินเดือนมาใช้จ่าย มีเพียง 3% ที่นำโบนัส/รายได้พิเศษ/อื่นๆ มาใช้ และอีก 36.5% บอกมีเงินไม่เพียงพอ ต้องจำนำทรัพย์สิน กู้ในและนอกระบบ ยืมญาติพี่น้อง เบิกเงินสดจากบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด ให้พัก การเรียน/ออกมาหางานทำ ขณะเดียวกัน ยังพบอีกว่า ผู้ปกครองมากถึง 66.1% มีหนี้สิน โดยมีมูลหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 340,750 บาท มีเพียง 33.9% ไม่มีหนี้สิน และเห็นว่าโครงการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีความสำคัญมาก ช่วยลดภาระของผู้ปกครองได้มาก

สำหรับความเห็นต่อการศึกษาไทยนั้น ส่วนใหญ่เห็นว่า หลักสูตรไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จำนวนครูไม่เพียงพอ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยเร่งรัดด้านการเรียนเกินไป นอกจากนี้ ผู้ปกครองทุกระดับการศึกษา ทั้งอนุบาล ประถม มัธยม หรือมากกว่า 85% มองว่า การเรียนพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นมาก และยอมจ่ายค่าเรียนพิเศษ ขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนมองว่า หลักสูตรการเรียนปัจจุบันส่งผลให้บุตรหลานเกิดความเครียด

ส่วนสิ่งที่ต้องการให้ปรับปรุงด้านการศึกษา คือ ด้านจริยธรรม การดำรงชีวิตและเอาตัวรอด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาชีพ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เพิ่มจำนวนครู พัฒนาโรงเรียนรัฐบาลให้มีคุณภาพใกล้เคียงเอกชน เพิ่มเวลาให้ครูสอนเด็กมากขึ้น ลดภาระด้านอื่นของครู ส่วนนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองขณะนี้ ส่วนใหญ่เห็นด้วย ทั้งโครงการอาหารฟรี กำจัดระบบแป๊ะเจี๊ยะ มีโรงเรียน 2 ภาษาในท้องถิ่น เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี สร้างเด็กไทย 3 ภาษา (ไทย ต่างประเทศ โคดดิ้ง) ยกเลิกหนี้ กยศ.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเกือบคนละ 20,000 บาท ดีสุดในรอบ 14 ปี แสดงว่าผู้ปกครองพร้อมใช้จ่าย และชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น แต่ยังฟื้นเป็นรูปตัวเค (K) ที่ฟื้นเฉพาะบางกลุ่ม ยังไม่กระจาย เพราะยังมีผู้ปกครองที่มีรายได้ปานกลาง ระมัดระวังใช้จ่าย และบางกลุ่มมีเงินไม่เพียงพอใช้จ่าย ต้องนำเงินออมมาใช้ หรือกู้หนี้ยืมสิน จำนำทรัพย์สิน แต่กลุ่มที่กู้เงินเพิ่ม ไม่น่าห่วงจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว เพราะมองว่า เป็นการกู้ระยะสั้นสำหรับการเปิดเทอม อีกทั้งคนส่วนใหญ่ ยังมีเงินเพียงพอใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม

“สำหรับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองขณะนี้ที่เน้นการฟื้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศนั้น จำเป็นที่รัฐบาลใหม่ต้องปฏิรูปการศึกษาให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น และเท่าเทียมกันทุกสถาบันการศึกษา สอนหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิชาชีพ โลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เพิ่มทักษะของผู้เรียนในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร และประเทศไทยได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ