เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้นำเสนอนโยบายต่างๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ ขณะเดียวกันสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญการผลักดันนโยบายด้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยได้นำเสนอข้อเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 5.0
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศไทย ทำให้คนไทยและธุรกิจไทยแข็งแกร่ง จึงมีการแถลงนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทย มุ่งสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคการเมืองนำไปกำหนดเป็นนโยบายพัฒนาประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับสร้างขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น
ข้อมูลจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดย IMD พบว่าอันดับการแข่งขันในเวทีโลกด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 26 และอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล อยู่อันดับที่ 40 สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษอีกมาก พบว่าคนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงเพียง 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรที่มีส่วนร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ได้มีข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ต่อจากนี้ ด้วย 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. สร้างคนทักษะดิจิทัล ด้วยการปฏิรูปภาคการศึกษา ผลักดันวิชาภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Computer Science เป็นวิชาหลักพื้นฐาน เช่น เรียน Programing ตั้งแต่ ป.1-ม.ปลาย พร้อมกับสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ให้เยาวชน โดยตั้งเป้าหมาย 6% ของคนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป มีทักษะดิจิทัลขั้นสูง (เขียนโปรแกรมได้) ในปี 2570 จากปัจจุบันมีเพียง 7 แสนคนหรือ 1%
2. สร้างสังคมดิจิทัลควบคู่ส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยผลักดันให้มี Incentive เช่น เงินทุนสนับสนุนแก่สื่อกระแสหลัก ที่ผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม ในช่วงไพรม์ไทม์ เพื่อสร้างแนวคิดที่ดีให้แก่ประชาชน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืน โดยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง
3. ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม ผ่านการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเมืองไทย ให้มีจำนวนถึง 20,000 บริษัท เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการทำ Digital Transformation ได้เร็วขึ้น รวมถึงจะส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ทั้ง SME และสตาร์ทอัพ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
4. สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการยกระดับธุรกิจภาคการเกษตรและอาหาร ผ่านการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับองค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3,000-5,000 ด้วยการสร้าง Soft Power สินค้า บริการ ท่องเที่ยว ตลอดจนเตรียมพร้อมด้าน Digital Infrastructure สำหรับรองรับวิถีดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม
5. ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ส่วนราชการ โดยเฉพาะข้าราชการระดับบริหาร ด้วยการปรับเงินเดือนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน พร้อมทั้งตั้งเป้าสัดส่วนข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20%
6. สร้าง Innovation Center ระดับโลก ได้แก่ 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space และ 5. Preventive Health Care/Health Tech ผ่านการดึง Digital Nomad และผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามามีส่วนร่วม จากการสร้างศูนย์นวัตกรรม โดยยกระดับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีระหว่างความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็น “Tech hub” และสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากกองทุนระดับโลกในการต่อยอดทุนวิจัยได้
7. นโยบายที่สามารถต่อยอดผู้ประกอบการไทย และผลักดันโครงสร้างพื้นฐานการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยี
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า โจทย์ที่ฝากกับรัฐบาลชุดใหม่ไปทั้งหมดในอนาคตนั้น สภาดิจิทัลฯ คาดหวังการแก้ปัญหาเชิงระบบนิเวศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งหากทำได้ตามนโยบายทั้งหมดที่เสนอมา จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ยังเน้นย้ำว่าการพัฒนาทักษะของคนถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการพัฒนาความเจริญของประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนจากพรรคการเมืองใดในการหาเสียงครั้งนี้ อย่างเป็นรูปธรรมและตรงเป้าหมาย.