หอการค้าไทยวัดกึ๋น “นโยบายภาษี” เปิดเวทีพรรคการเมืองแจงภาษีที่ดิน-หุ้น-ช่วยธุรกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หอการค้าไทยวัดกึ๋น “นโยบายภาษี” เปิดเวทีพรรคการเมืองแจงภาษีที่ดิน-หุ้น-ช่วยธุรกิจ

Date Time: 3 พ.ค. 2566 07:30 น.

Summary

  • หอการค้าไทย เปิดเวทีพรรคการเมืองแถลง “นโยบายภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ก้าวไกล เสนอเก็บภาษีหุ้นบิ๊กลอต-ให้ท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินเองไทยสร้างไทย จ่อออก พ.ร.ก.เว้นใช้กฎหมายกว่า 1.3 พันฉบับ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

หอการค้าไทย เปิดเวทีพรรคการเมืองแถลง “นโยบายภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ก้าวไกล เสนอเก็บภาษีหุ้นบิ๊กลอต-ให้ท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินเองไทยสร้างไทย จ่อออก พ.ร.ก.เว้นใช้กฎหมายกว่า 1.3 พันฉบับที่เป็นอุปสรรคธุรกิจชั่วคราว สินค้าที่ไม่ใช่ยา-เครื่องมือแพทย์ ไม่ต้องขอ อย. ประชาธิปัตย์ ชู “หาดใหญ่” เป็นศูนย์กลางการเงินภูมิภาค ใช้ภาษีนิติบุคคลล่อทุนต่างชาติ เพื่อไทย เสนอยกเลิกเก็บภาษีที่ดิน-ภาษีหุ้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเสวนา Thailand 5.0 ปฏิรูปภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดยได้เชิญพรรคการเมืองร่วมนำเสนอนโยบายและมาตรการด้านภาษีที่จะนำไปสู่การปฏิรูปภาษีของประเทศ ซึ่งจะเน้นนโยบายภาษีเงินได้นิติบุคคล และนิติบุคคล การจัดเก็บภาษีขายหลักทรัพย์บุคคล จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ มีพรรคการเมืองเข้าร่วม 6 พรรค คือ พรรคก้าวไกล ชาติพัฒนากล้า ไทยสร้างไทย ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และรวมไทยสร้างชาติ

ทั้งนี้ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย กล่าวว่า พรรคมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานลดลงมาหักลดหย่อนได้ 1.5-2 เท่า เก็บภาษีถุงพลาสติกเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซของแต่ละอุตสาหกรรม ส่วนการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นไม่ควรเก็บจากบริการที่มีกำไร แต่เก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นในตลาด และมุ่งเก็บจากรายใหญ่ ที่ขายเป็นบิ๊กลอต และที่เทรดนอกตลาด ขณะที่ภาษีที่ดิน ที่มีปัญหาหลบเลี่ยงภาษีเอาพื้นที่รกร้างมาปลูกกล้วย ปลูกมะนาวใจกลางเมือง ต้องแก้ไขด้วยการให้อำนาจท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์การจัดเก็บเอง และการประเมินภาษีต้องสอดคล้องกับสีของผังเมือง สำหรับภาษีศุลกากรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ติดสินบนรางวัลนั้น เถียงกันนานว่าควรให้หรือไม่ ซึ่งถ้าจะให้ ควรเป็นเงินที่ส่งเข้าคลังก่อน แล้วจัดสรรเป็นแรงจูงใจเป็นเคพีไอของหน่วยงาน ไม่ใช่ของบุคคล ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์ลดลงได้

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ประเทศมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจกว่า 1,300 ฉบับ แต่จะเสนอให้ปรับแก้ หรือกิโยตีนกฎหมายตอนนี้ไม่ทัน พรรคจึงมีนโยบายที่จะออก พ.ร.ก. 1 ฉบับ เพื่อแขวนหรืองดบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคทั้งหมดชั่วคราว เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ส่วนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจโดยเน้นรักษาสิ่งแวดล้อม หรือบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) ให้ได้สิทธิประโยชน์บีโอไอ 5 ปี ส่วนผู้ซื้อสินค้าบีซีจีลดหย่อนภาษีได้ 20% นอกจากนี้จะลดความซ้ำซ้อนของการขออนุญาต โดยยกเลิกการขออนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในสินค้าอาหาร เครื่องสำอาง น้ำดื่ม ฯลฯ จะให้ขออนุญาตเฉพาะยา และเครื่องมือแพทย์เท่านั้น

“กรมภาษี คือสรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร ต้องทำงานร่วมกัน และมีฐานข้อมูลเดียวกัน (เดต้า วัน) เพื่อจะได้ไม่จัดเก็บซ้ำซ้อน และลดความยุ่งยาก ยิ่งโต๊ะเยอะ ผู้ประกอบการยิ่งเสียเงินเสียเวลามากขึ้น”

ขณะที่นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคการเมืองที่หาเสียงแบบลดแลกแจกแถม แต่อยากให้คิดให้ดี เพราะมีผลต่องบประมาณของประเทศ สำหรับพรรคเสนอให้หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค โดยใช้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นตัวช่วย และให้แต้มต่อเอสเอ็มอี เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับ และมีทุนจากหลายประเทศต้องการเข้ามาลงทุนที่ไทย เช่น จีน อินเดีย อาหรับ และมองว่า ขณะนี้สิงคโปร์แพงเกินไปแล้ว นอกจากนี้จะใช้มาตรภาษีจูงใจให้คนอยากมีลูกมากขึ้น เช่น หักลดหย่อนบุตรเป็น 100,000 บาท จากปัจจุบัน 30,000 บาท อีกทั้งยังจะเก็บภาษีคนรวยในท้องถิ่นต่างๆ จากปัจจุบันที่เก็บภาษีเงินได้ 360,000 ล้านบาท/ปี แต่ 300,000 ล้านบาทเก็บจากคนในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ต่างจังหวัดมีคนรายได้สูงจำนวนมาก

ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะเสนอให้พรรคยกเลิกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกลับมาใช้ภาษีโรงเรือนเหมือนเดิม เพราะภาษีที่ดิน ออกมาในปี 62 และยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การออกกฎหมายไม่รอบคอบ จึงเกิดปัญหา และการหลบเลี่ยงภาษี และไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำจริงตามที่กล่าวอ้าง สำหรับการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเก็บภาษีกำไรของบุคคลธรรมดา ไม่คุ้ม ยุ่งยาก ขณะที่ภาษีเงินได้ไม่จำเป็นต้องจัดเก็บในอัตราสูงๆ แต่การทำให้คนมีรายได้เพิ่ม เข้าสู่ระบบมากขึ้น การจัดเก็บรายได้ก็จะสูงขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ