“บิ๊กตู่” ย้ำทำดีที่สุดช่วยบรรเทาภาระค่าไฟคนไทย ทั้งไฟบ้านไม่เกิน 150 หน่วย 300 หน่วย และครั้งนี้เพิ่มไฟบ้าน 500 หน่วย กระทรวงพลังงานยันไม่ได้สำรองไฟจนเกินความจำเป็น และเป็นเหตุให้ค่าไฟพุ่ง แจงการรับซื้อไฟจากพลังงานสะอาดต้องใช้เวลาอีก 2–3 ปี จึงเข้าระบบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังที่ประชุมคณะรัฐ มนตรี (ครม.) เห็นชอบการขออนุมัติใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐ ธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนดเนื่องจากเป็นช่วงยุบสภา วงเงิน 11,112 ล้านบาท ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ของประชาชนในเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 โดย 1. ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย ในเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 18.36 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,602 ล้านบาท โดยปรับลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 1-150 หน่วยต่อเดือน เหลือ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ผู้ที่ใช้ไฟฟ้า 151-300 หน่วยต่อเดือน เหลือ 26.39 สต.ต่อหน่วย 2.มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าระยะเร่งด่วน ช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเงิน 150 บาท ในบิลค่าไฟในเดือน พ.ค. เพียงเดือนใช้งบไม่เกิน 3,510 ล้านบาท ว่าขณะนี้การใช้งบประมาณต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในช่วงเลือกตั้ง และที่ผ่านมารัฐบาลได้ดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่เกิน 150 หน่วย และ 300 หน่วย และวันนี้จะเพิ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย
“ขอให้ไว้วางใจซึ่งกันและกันว่า เราพยายามจะทำให้ดีที่สุด ก็เป็นข้อกังวลเหมือนกันกรณีที่มี พรรคการเมืองไปหาเสียงต่างๆว่าจะลดค่าไฟฟ้าลง เท่านั้นเท่านี้ ถ้ามาดูไส้ในแล้วจะรู้ว่ามีรายละเอียดมากมาย ส่วนที่มีการพูดว่ารัฐบาลอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม 2 งวด ทำให้เกิดภาระ ซึ่งจริงๆเป็นการอนุมัติไว้เฉยๆ แล้วยังไม่ได้สร้างเลย ส่วนปริมาณไฟฟ้าสำรองที่บอกว่าเกินไป 50-60% ก็ไม่ใช่ตัวเลขนั้น ใน ครม.ได้คุย กันเป็นชั่วโมงก็เข้าใจกันดีในขั้นต้น ส่วนค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ จะคิดราคาเท่ากับทั้งอุตสาหกรรมและประชาชน”
ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายก รัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ได้ชี้แจงให้ ครม.รับทราบข้อเท็จจริงเรื่องปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มีการให้ข้อมูลว่ามีมากกว่า 50% นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันเหลืออยู่ 35% ซึ่งแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานนานาชาติที่อยู่ที่ 15-20% แต่จะทยอยลดลงเรื่อยๆจากการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การปิดซ่อมโรงไฟฟ้าบางแห่ง ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถเมล์ไฟฟ้า
ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มเติมของรัฐบาลเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายการลดการพึ่งพาการผลิตก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเป็นเงื่อนไขการเข้ามาลงทุนของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น และตอบโจทย์การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย โดยการอนุมัติการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้
ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเพิ่มเติมประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงว่า ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50-60% โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล จึงถูกคำนวณเป็นสำรองไฟฟ้าแต่ไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง
“การสำรองไฟฟ้าจริงๆแล้วมีประเด็นตลอด โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่กำหนดการจัดหาพลังงานไฟฟ้า 20 ปี ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน การเปิดโครงการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และก็จำเป็นต้องมีปริมาณไฟฟ้าสำรองไว้ อีกส่วนหนึ่งเพื่อความมั่นคงในอนาคต”
นายกุลิศกล่าวว่า ถ้าต้องการจะให้ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย หากดูแผน PDP ก่อนหน้านี้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โดยสถิติปี 2562-2563 อยู่ที่ระดับ 6-7 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู แต่ปลายปีที่ผ่านมากระโดดมาที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากการฟื้นตัวหลังโควิด-19 รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน จึงส่งผลกระทบต่อการคำนวณเอฟที ทำให้ราคาค่า ไฟฟ้าที่แพงขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็พยายามคำนวณในราคาที่ลดลงมาอยู่ที่ 19-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำชับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหาแอลเอ็นจีให้ได้ในราคา 13-15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพื่อทำให้ราคาค่าไฟลดลงในงวดถัดๆไป และอยากให้เห็นใจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการแบกรับภาระตรงนี้.