Update ระบบรางของประเทศ รถไฟฟ้าเชื่อมเมือง มอเตอร์เวย์เชื่อมทาง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

Update ระบบรางของประเทศ รถไฟฟ้าเชื่อมเมือง มอเตอร์เวย์เชื่อมทาง

Date Time: 15 เม.ย. 2566 05:30 น.

Summary

  • จากที่เคยเป็น “การเดินทางรูปแบบใหม่” เมื่อหลายปีก่อน วันนี้ การเดินทางด้วย “รถไฟฟ้า” ไม่ว่าจะเป็นใต้ดิน บนดิน ข้ามแม่น้ำ ได้กลายมาเป็น “ชีวิตประจำวันและเป็นการเดินทางที่สำคัญ” ของคนไทย

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

จากที่เคยเป็น “การเดินทางรูปแบบใหม่” เมื่อหลายปีก่อน วันนี้ การเดินทางด้วย “รถไฟฟ้า” ไม่ว่าจะเป็นใต้ดิน บนดิน ข้ามแม่น้ำ ได้กลายมาเป็น “ชีวิตประจำวันและเป็นการเดินทางที่สำคัญ” ของคนไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปแล้ว ซึ่งเป็นระบบการเดินทางสาธารณะที่เด็ก คนทำงาน และผู้สูงอายุคุ้นเคย และเข้าถึงได้

นอกจากนั้น ยังช่วยย่นเวลาในการเดินทางของประชาชนให้สั้นลง ท่ามกลางการจราจรที่กลับมาติดขัดแน่นขนัดหลังการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 เปิดให้กลับมาทำงานที่ทำงานและท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม จากผลของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การก่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้ามีความล่าช้า โดยขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว เพียง 5 สี คือ สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง สีทอง และสีม่วง โดยคาดว่าในปีถัดๆไปจะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นตามมา อีก 2 สายทางคือ สีเหลืองและสีชมพู

และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมยังได้เร่งรัดก่อสร้าง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทั่วไทย เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมและการขนส่งจากเมืองสู่เมือง รองรับการเดินทาง ขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

แต่ละเส้นทางไปถึงไหนแล้ว เรามีโอกาสจะได้ใช้งานได้เมื่อไร “ทีมเศรษฐกิจ” มาอัปเดตระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทั่วไทย ว่า มีรถไฟฟ้าสีไหนสายไหน รถไฟทางคู่เส้นไหน มอเตอร์เวย์สายไหน ที่เราจะได้ใช้ในปีนี้ และปีต่อๆไปกันบ้าง

23 ปีรถไฟฟ้า 11 สายทางทั่วกรุงเทพฯ

มาเริ่มกันที่ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” กันก่อน จะเห็นได้ว่าจากที่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เปิดให้บริการเป็นสายแรกของประเทศไทยโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส มาตั้งแต่ปี 2542 กว่า 23 ปี มา ณ วันนี้ประเทศไทยมีการให้บริการรถไฟฟ้าหลากหลายสีไปแล้วรวมกว่า 11 สายทาง รวมระยะทางรวมกว่า 211.94 กม.ทั่วกรุงเทพมหานคร

ดังนั้นทาง “ทีมเศรษฐกิจ” จึงขอไล่เลียงฉายให้เห็นภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในปัจจุบันว่า มีรถไฟฟ้าสีอะไรกันบ้างที่ให้บริการ สีไหนวิ่งให้บริการเส้นทางไหน มีระยะทางเท่าไหร่...

รถไฟฟ้าทั้ง 11 สายทางประกอบไปด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (สุขุมวิท) ช่วงหมอชิต-สมุทรปราการ ระยะทาง 37.10 กม. 2.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.70 กม. 3.รถไฟฟ้าสีเขียวอ่อน ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ระยะทาง 14 กม. 4.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

5.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) ระยะทาง 14 กม. 6.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กม. 7.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.70 กม. 8 รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กม. 9.รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธน-คลองสาน ระยะทาง 1.88 กม.

และล่าสุด 2 สายทางที่เหลือ เพิ่งเปิดให้บริการไปสดๆร้อนๆ เมื่อ 29 พ.ย.2564 ที่ผ่านมาคือ เส้นที่ 10.รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (เหนือ) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กม. 11.รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กม.

“ชมพู-เหลือง” มาตามนัดเปิดบริการปี 67

ทีนี้มาดูกันว่าในปีนี้และปี 2567 ที่จะถึงนี้ จะมีรถไฟฟ้าอะไรที่จ่อเปิดให้บริการ

งานนี้ประชาชนคนกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล แทบไม่ต้องรอลุ้นเพราะก่อนหน้านี้มีข่าวมาโดยตลอดถึงความคืบหน้าของ รถไฟฟ้าสายสีชมพู “ช่วงแคราย-มีนบุรี” ระยะทาง 34.50 กม. และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง “ช่วงลาดพร้าว-สำโรง” ระยะทาง 30.40 กม. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความก้าวหน้าอย่างมาก

โดยรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางได้ถูกกำหนดให้เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) ที่ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง 2 สายแรกของประเทศไทย เมื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางแล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยให้ประชาชนเดินทางจากชานเมืองสู่ใจกลางเมืองได้แบบไร้รอยต่อ

และยังพบว่า ณ สิ้นเดือน มี.ค.2566 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีความก้าวหน้างานโยธา 98.75% ส่วนงานระบบรถไฟฟ้า 98.72% ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี พบว่ามีความก้าวหน้างานโยธา 95.80% งานระบบรถไฟฟ้า 96.09% ซึ่งทั้ง 2 สายทางดังกล่าวหากใครผ่านไปผ่านมาในเส้นทางจะพบว่าได้มีการทดสอบระบบเดินรถกันแล้ว และจะทดสอบแบบเสมือนจริง (Trial Run) ตามมา

ส่วนการเปิดให้บริการเดินรถทั้งสองสายทางนั้น ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการ ประเมิน Proof of Safety เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของงานโยธา และงานระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการ ก่อนที่วิศวกรอิสระ (ICE) จะออกหนังสือรับรองความปลอดภัย เพื่อเปิดให้บริการ ซึ่งก็คาดว่าหลังที่ได้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คงมีความชัดเจนถึงวันเวลาที่จะให้บริการอย่างเป็นทางการแบบเต็มรูปแบบในต้นปี 67 แน่นอน

ในเมื่อรู้ความคืบหน้าโครงการและแนวโน้มกันแล้ว ลองมาดูกันหน่อยสิว่ารถไฟฟ้าสีชมพูและรถไฟฟ้าสีเหลืองที่จะเปิดให้บริการล่าสุด มีบริการสถานีไหนอะไรกันบ้าง และสถานีไหนเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆตรงไหน หรือจะใกล้บ้านใครช่วงไหน อย่างไร ได้เตรียมตัวกันให้พร้อม...มากันค่ะ...มาทำความรู้จักกันเริ่มกันที่

อัปเดต “เหลือง ชมพู” 53 สถานีใกล้บ้านใคร

รถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าชมพูช่วงนี้ต้องบอกว่าเป็นรถไฟฟ้ายกระดับทั้งเส้นทาง มีชั้นจำหน่ายบัตรโดยสารอยู่ชั้นที่ 2 และชั้นชานชาลาอยู่ชั้นที่ 3 ก่อสร้างอยู่เหนือพื้นที่ผิวจราจรของถนนสายหลัก ติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา โดยมีสถานีทั้งสิ้น 30 สถานี และปัจจุบันได้มีการเริ่มทดสอบระบบกันแล้ว แต่วิ่งทดสอบไม่ครบทุกสถานี

มาเริ่มต้นกันที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จะเป็นสถานีสำหรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง), สถานีแคราย, สถานีสนามบินน้ำ, สถานีสามัคคี, สถานีกรมชลประทาน, สถานีแยกปากเกร็ด, สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด, สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28, สถานีศรีรัช, สถานีเมืองทองธานี, สถานีแจ้งวัฒนะ 14, สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ, สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ

และมาต่อด้วย สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับบริเวณศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ซึ่งสถานีนี้เป็นสถานีสำคัญสำหรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มาต่อที่สถานีราชภัฏพระนคร, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นสถานีสำหรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, สถานีรามอินทรา 3

นอกจากนั้น ยังมีสถานีลาดปลาเค้า, สถานีรามอินทรา กม.4 , สถานีมัยลาภ, สถานีวัชรพล, สถานีรามอินทรา กม.6, สถานีคู้บอน, สถานีรามอินทรา กม.9, สถานีวงแหวนรามอินทรา, สถานีนพรัตน์, สถานีบางชัน, สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ, สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี ตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง ใกล้กับทางแยกร่มเกล้า เป็นสถานีสำหรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพู กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี และมีจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) ในบริเวณเดียวกับพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง

เมื่อรู้จักรถไฟฟ้าสีชมพูแล้ว ก็ต้องมาต่อกันที่ รถไฟฟ้าสีเหลือง “ช่วงลาดพร้าว-สำโรง” รถไฟฟ้าเส้นทางนี้จะเป็นทางยกระดับทั้งหมดมีชั้นจำหน่ายบัตรโดยสารอยู่ชั้นที่ 2 และชั้นชานชาลาอยู่ชั้นที่ 3 ก่อสร้างอยู่เหนือพื้นที่ผิวจราจรของถนนสายหลักมีสถานีบริการจำนวน 23 สถานี ประกอบด้วย สถานีลาดพร้าว ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าอาคารจอดแล้วจร ซึ่งสถานีนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน), สถานีภาวนา, สถานีโชคชัย 4, สถานีลาดพร้าว 71, สถานีลาดพร้าว 83, สถานีมหาดไทย, สถานีลาดพร้าว 101, สถานีบางกะปิ, สถานีแยกลำสาลี ซึ่งสถานีนี้จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม, สถานีศรีกรีฑา

สถานีหัวหมาก ซึ่งสถานีนี้จะอยู่บริเวณระหว่างจุดตัดทางรถไฟและจุดตัดถนนพัฒนาการ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีกลันตัน, สถานีศรีนุช, สถานีศรีนครินทร์ 38, สถานีสวนหลวง, สถานีศรีอุดม, สถานีศรีเอี่ยม สถานีตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม (ด้านทิศเหนือของถนนบางนา-ตราด)

ที่สำคัญคือ มีจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) กับพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงด้วย, สถานีศรีลาซาล, สถานีศรีแบริ่ง, สถานีศรีด่าน, สถานีศรีเทพา, สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง ตั้งอยู่บนถนนเทพารักษ์ บริเวณใกล้แยกสุเทพา ใกล้ตลาดสดเทพารักษ์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

“ส้ม-ม่วงใต้” ไม่ตกขบวนจ่อเปิดปี 69-70

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการในปี 2568 มีอะไรบ้าง ซึ่งพอมาไล่เลียงกันดูกลับพบว่า เป็นรถไฟฟ้าสีชมพู “ช่วงส่วนต่อขยายสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี”

โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีเมืองทอง และเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 แนวเส้นทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา ต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี รวมระยะทางประมาณ 3 กม.

มีสถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร 2 สถานี คือ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนด้านหน้าอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี ตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งมีความคืบหน้างานก่อสร้างขณะนี้เพียง 15.31% เท่านั้น

ส่วนรถไฟฟ้าสีส้ม “ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี” ระยะทาง 22.50 กม. แม้ว่างานก่อสร้างจะก้าวหน้ากว่า 99% เกือบเสร็จสมบูรณ์ และตามแผนเดิมจะเปิดให้บริการในปี 2569 นั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นไปตามแผนหรือ

นอกจากนั้น ยังพบว่ารถไฟฟ้าที่จะสร้างแล้วเสร็จในปี 2569-2570 คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง “ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ดังนั้นมาอัปเดตกันหน่อยว่าเส้นทางนี้มีจุดเริ่มต้นที่ไหนอย่างไร และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสีไหนบ้าง

โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่บริเวณสถานีเตาปูน และรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ไปสิ้นสุดที่บริเวณครุใน รวมระยะทาง 23.63 กม. รถไฟฟ้าเส้นนี้จะเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กม. และโครงสร้างทางยกระดับ 9.34 กม.รวมสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

นอกจากนี้ ยังมีสถานีที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอดที่เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

จ่อขยายโครงข่ายเพิ่ม “ส้มตะวันตก-น้ำตาล”

จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นภาพรถไฟฟ้าหลากสีหลายเส้นทาง หากจะไม่กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) “ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” ก็ไม่ได้เลย ถือว่าไม่ครบลูป ดังนั้นมาอัปเดตกันหน่อยว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มมีสถานะอย่างไรกันบ้าง ณ เวลานี้

รถไฟฟ้าสีส้มจะเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ Heavy Rail System มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีบางขุนนนท์ และโครงการรถไฟชานเมืองสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ที่สถานีจรัญสนิทวงศ์ โดยโครงการรถไฟฟ้าสีส้มเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินวิ่งไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาโดยขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ผ่านสนามหลวง ลอดใต้ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวง จนถึงแยกยมราช แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรี ไปจนถึงสี่แยกประตูน้ำแล้วเลี้ยวซ้ายลอดใต้ผ่านไปยังถนนราชปรารภ

จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิภาวดีรังสิต เบี่ยงขวาผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ และสิ้นสุดโครงการที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีร่วมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มีระยะทางรวมประมาณ 13.4 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินตลอดสาย จำนวน 11 สถานี

สำหรับสถานะโครงการนั้น ปัจจุบัน รฟม.ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ตามแผนงานมีกำหนดเริ่มงานก่อสร้างในปี 2566 และกำหนดเปิดให้บริการในปี 2572

ส่วน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ รฟม. จะเร่งผลักดันให้ก่อสร้าง โดยโครงการจะมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณแยกแคราย ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร ประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (ทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 350 เมื่อถึงจุดตัดถนนนวมินทร์ จะเลี้ยวขวาไปตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ และไปสิ้นสุดโครงการที่จุดตัดกับถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง รวมระยะทางทั้งสิ้น 22.1 กิโลเมตร (ยกระดับตลอดสาย) มี 20 สถานี

ล่าสุด รฟม. ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทบทวนและปรับปรุงรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และจัดทำรายงาน PPP แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบและประมวลข้อมูลเพื่อขออนุมัติโครงการ ทั้งนี้ตามแผนงานมีกำหนดเริ่มงานก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการในปี 2571

อัปเดตรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง

ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมนับถอยหลังสู่การเปิดใช้รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนจำนวน 5 เส้นทาง ซึ่งจะว่าไปนับจากปี 2559 ที่ รฟท.ได้เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จ จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กม. เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อปี 2562 และ 2. ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2563

นอกจากทางคู่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ขณะนี้ยังเหลืออีก 5 เส้นทาง ที่อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงาน ได้แก่ 1. รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะเปิดให้บริการ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ภายในปี 2566, 2. รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2566, 3. รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2567, 4. รถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2567 และ 5.รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2567

“ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน-รถไฟไทยจีน”

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ช่วงดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” รวมระยะทาง 220 กม. หลายๆคนที่ติดตามข่าวมักจะถามกันมาเสมอๆว่า...สร้างหรือยัง? หากเริ่มก่อสร้างแล้ว โครงการคืบหน้าอย่างไร...“ทีมเศรษฐกิจ” จะขอมาฉายให้เห็นว่าโครงการนี้เดินหน้าไปทิศทางไหนแล้ว

โดยภาพรวมในส่วนงานโยธา จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง มีดังนี้ 1. ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ หลังจากการแก้ไขสัญญาร่วมทุนเรียบร้อย

2.ช่วงสุวรรณภูมิ-พญาไท หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ปัจจุบันบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนผู้ร่วมทุน เป็นผู้สนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุง 3. ช่วงพญาไท-บางซื่อ อยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืน รื้อย้ายสาธารณูปโภค คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 และ4. ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กำหนดให้เอกชนก่อสร้างโครงสร้างร่วม ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ด้วย ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดราคากลางแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญากับเอกชน และเตรียมขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

เมื่อการก่อสร้างเดินหน้าตามขั้นตอนต่างๆแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ ภายในปี 2572 ซึ่งหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่าหากโครงการสำเร็จจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการยกระดับการขนส่งภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

และเมื่อพูดถึง “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” จะไม่พูดถึง รถไฟความเร็วสูง “ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา” หรือ รถไฟไทยจีน ระยะทาง 250.77 กม. ไม่ได้เลย...ดังนั้น จึงขอไขข้อสงสัยให้เห็นว่า รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กับสถานะปัจจุบัน การดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนใด

สำหรับสถานะของรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา โดย รฟท.ให้ความมั่นใจว่า จะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายในปี 2570 นี้แน่นอน โดยมีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา โดยเป็นรถไฟความเร็วสูง (ตามมาตรฐาน UIC) ซึ่งมีความเร็วให้บริการสูงสุดที่ 250 กม./ชม. ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - ไปยังสถานีปลายทางนครราชสีมา ใช้เวลาเพียง 90 นาทีเท่านั้น

เร่งสร้างมอเตอร์เวย์ทั่วไทย

เมื่ออัปเดตระบบรางไปแล้ว หากจะไม่พูดถึงทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง (ทล.) ก็จะถือว่าไม่ครบชุดโครงข่ายการเดินทาง จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันกรมทางหลวงได้เปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ไปแล้ว 2 สายทาง คือ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (M9) “กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด” และ มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 “บางปะอิน-บางพลี” และ มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (M9) “พระประแดง-บางขุนเทียน”

ล่าสุดกรมทางหลวง ได้มีการดำเนินการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (M6) “บางปะอิน-โคราช” และ มอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (M81) “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ซึ่งทั้ง 2 สายทางมีความคืบหน้าไปกว่า 90% และมีแผนที่จะเปิดให้บริการทั้งสองเส้นทางในปี 2568

นอกจากนั้นในปี 2566 นี้ กรมทางหลวงยังมีแผนที่จะผลักดันให้มีการก่อสร้างอีก 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1) มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทางประมาณ 70 กม.ซึ่งคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการภายในปี 2566 คัดเลือกเอกชนในปี 2567 ก่อสร้างโครงการในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

2) มอเตอร์เวย์หมายเลข 5 “สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน” (M5) ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการก่อสร้างทางยกระดับช่วงรังสิต-บางปะอิน ซึ่งโครงการนี้จะมีการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมโยงมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมาด้วย คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการภายในปี 2566 ดำเนินการคัดเลือกเอกชนในปี 2567 ก่อสร้างโครงการในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

และ 3) มอเตอร์เวย์หมายเลข 8 (M8) “นครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ” ช่วงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของมอเตอร์เวย์หมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทางรวม 109 กม.โดยจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ และ ช่วงปากท่อ-ชะอำ โดยจะก่อสร้างช่วงนครปฐม-ปากท่อ ก่อน แนวเส้นทางโครงการมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ไปสิ้นสุดบริเวณ กม.73 ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) ระยะทาง 61 กม.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ