กรณีศึกษามหาอำนาจแห่งสตาร์อัพ ต้นแบบความสำเร็จของ "เอสโตเนีย"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กรณีศึกษามหาอำนาจแห่งสตาร์อัพ ต้นแบบความสำเร็จของ "เอสโตเนีย"

Date Time: 10 เม.ย. 2566 06:43 น.

Summary

  • หลังประกาศเอกราช ปลดแอกจากการปกครองของสหภาพ โซเวียตได้สำเร็จเมื่อปี 2534 “สาธารณรัฐเอสโตเนีย” ประเทศเล็กๆ บนพื้นที่ 45,227 ตารางกิโลเมตร

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

หลังประกาศเอกราช ปลดแอกจากการปกครองของสหภาพ โซเวียตได้สำเร็จเมื่อปี 2534 “สาธารณรัฐเอสโตเนีย” ประเทศเล็กๆ บนพื้นที่ 45,227 ตารางกิโลเมตร ที่มีพรมแดนทางทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐลัตเวีย ทิศตะวันออกติดกับรัสเซีย และจำนวนประชากร 1.3 ล้านคน ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีในการวางแผนปฏิรูปประเทศ กำหนดยุทธศาสตร์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน แล้วตั้งอกตั้งใจเดินหน้านโยบายอย่างแน่วแน่ มุ่งมั่น ต่อเนื่องผ่านรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า

จนทำให้ประเทศเล็กๆจากยุโรปตะวันออกแห่งนี้ สามารถพลิกฟื้นจากความเป็นประเทศยากจนที่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรและประมงไปขายรัสเซีย สู่การเป็นมหาอำนาจสตาร์ตอัพ (Start-up) แห่งโลกยุคใหม่ ที่มีจำนวนสตาร์ตอัพต่อจำนวนประชากรต่อหัวในสัดส่วนสูงที่สุดในยุโรป ที่ 7.7 สตาร์ตอัพต่อประชากร 1 ล้านคน เทียบกับอันดับ 2 ประเทศลักเซมเบิร์กที่ 3.1 อังกฤษที่ 1.6 และสหภาพยุโรปที่ 0.6 (ข้อมูลจาก Invest in Estonia)

การใช้เทคโนโลยีในการลดต้นทุน ลดปัญหาคอร์รัปชันและสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้อย่างเท่าเทียม ยังสะท้อนผ่านการเติบโตของรายได้ประชากรต่อหัวของเอสโตเนียด้วย ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน เอสโตเนียมีรายได้ประชากรต่อคนต่อปีอยู่ที่ 86,000 บาทใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่รายได้ประชากรต่อคนต่อปีขณะนั้นอยู่ที่ 70,000 บาท แต่ล่าสุดหลังเอสโตเนียปรับเปลี่ยนประเทศผ่านนโยบาย E-Governance รายได้ประชากรต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1 ล้านบาท ขณะที่รายได้ประชากรต่อคนต่อปีของประเทศไทยอยู่ที่ 270,000 บาท

เส้นทางสู่ความมั่งคั่งของเอสโตเนีย ดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลก กลายเป็นกรณีศึกษาให้กับรัฐบาลทั่วโลก ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความก้าวหน้ากับเขาบ้าง

ไม่ต่างจาก “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งสนใจโมเดล Estonia E-Governance เช่นกัน จึงได้นำทีมผู้บริหารและคณะสื่อมวลชน รวมทั้ง “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” บินลัดฟ้าไปดูสิ่งที่เอสโตเนียทำ ที่ทำให้ประเทศเล็กๆริมทะเลบอลติกแห่งนี้ เจริญก้าวหน้าได้อย่างโดดเด่น

สำเร็จจากวิสัยทัศน์ “พยัคฆ์ทะยาน”

ธีรภัทร เจริญสุข นักเขียนและพลเมืองดิจิทัลแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย เล่าผ่านบทความชื่อ “พยัคฆ์ทะยาน โครงการก้าวกระโดดแบบเอสโตเนีย จิตวิญญาณสตาร์ตอัพระดับประเทศ” เผยแพร่บนเว็บไซต์ 101 World เมื่อ มิ.ย.2560 ว่า ในปี 2539 ไม่กี่ปีหลังประกาศอิสรภาพ โทมัส เฮนดริก ไอฟส์ รมว.ต่างประเทศของเอสโตเนียขณะนั้น ซึ่งเคยเป็นอดีตเอกอัครราชทูตเอสโตเนียประจำสหรัฐอเมริกา เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ที่โลกตะวันตกกำลังเริ่มเฟื่องฟู ว่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อไปในอนาคต จึงได้เสนอแผนการ TIIGRIHUPE “พยัคฆ์ทะยาน”

แผนการพยัคฆ์ทะยาน คือการริเริ่มเผยแพร่การเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์และเขียนโปรแกรมลงไปในโรงเรียนทุกแห่งของเอสโตเนียตั้งแต่ชั้นอนุบาล เริ่มในปีงบประมาณ 2540 ใช้คอมพิวเตอร์แบบ CP/M ระบบ 8 บิท เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากมีโรงงานประกอบอยู่แล้ว

มองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ “ธีรภัทร เจริญสุข” เล่าไว้ การวางรากฐานที่การศึกษาให้กับเด็กตั้งแต่วัยอนุบาล น่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ทำให้เอสโตเนียปูพรมสร้างจิตวิญญาณแห่งสตาร์ตอัพได้ในระดับประเทศ นอกเหนือจากการเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิทธิพื้นฐานด้านมนุษยชนเมื่อปี 2544 จนกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนสตาร์ตอัพมากที่สุดในยุโรป และที่ 2 ของโลก ปัจจุบันมีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น (มูลค่าบริษัทเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จำนวน 10 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น Skype แพลตฟอร์มวิดีโอสื่อสาร Bolt แอปพลิเคชันเรียกรถที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทยแล้ว เป็นต้น

เอสโตเนียยังเป็นประเทศแรกในโลก ที่ให้บริการภาครัฐรูปแบบ e-Service ได้มากถึง 99% เหลือเพียง “จดทะเบียนหย่า” ที่ติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย การหย่าร้างยังต้องไปแสดงตน อย่างไร ก็ตามเอสโตเนียประกาศว่าในปี 2567 พร้อมเปิดให้บริการ e–Service ครบ 100%

“E-Governance” แก้คอร์รัปชัน-เพิ่มรายได้

คาร์เมน ราล ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน (Digital Transformation Advisor) e-Estonia ตัวแทนรัฐบาลเอสโตเนีย เล่าให้ฟังว่า ตอนแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตในปี 2534 ภายในประเทศมีปัญหาคอร์รัปชันและขาดแคลนทรัพยากร พื้นที่ประเทศมีขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน ทำให้ต้นทุนในการให้บริการของภาครัฐสูง และไม่สามารถวางโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีประชากรจำนวนมากได้

อย่างไรก็ตาม เอสโตเนียมีคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก ที่ได้หารือร่วมกับรัฐบาลแล้วเห็นตรงกันว่า การปรับเปลี่ยนประเทศสู่ดิจิทัล จะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ทั้งหมด ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ หรือพรรคการเมืองไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาล จะต้องบริหารประเทศไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือนำประเทศไปสู่ระบบดิจิทัล

นอกจากนั้นรัฐบาลยังร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงมีการปรับกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิด Digitalization หรือกระบวนการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดย E-Governance และบริการผ่านออนไลน์จะเกิดขึ้นได้ สำคัญคือต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตครอบคลุมทั้งประเทศ ที่เหลือคือทำให้ประชาชนมั่นใจและคุ้นชินต่อบริการออนไลน์

ยกตัวอย่างบริการ e-Service ที่ได้รับความนิยมมาก คือการยื่นภาษี ซึ่งเป็นบริการแรกๆที่รัฐบาลเอสโตเนียปรับออนไลน์ ยื่นชำระภาษีได้เพียงไม่กี่คลิก ปัจจุบันมีคนยื่นภาษีออนไลน์สูงถึง 90% เอสโตเนียยังเป็นประเทศแรกในโลก ที่เปิดให้เลือกตั้งออนไลน์ เริ่มตั้งแต่ปี 2548 ข้อดีคือสะดวก ลดค่าใช้จ่ายรวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับคนเอสโตเนียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และช่วยลดการซื้อสิทธิขายเสียง

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเดือน มี.ค.2566 มีคนเลือกตั้งผ่าน i-Voting ประมาณ 51% นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เลือกตั้งออนไลน์มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด แต่ที่คนจำนวนมากยังเดินเข้าคูหา อาจเป็นความคุ้นชิน เพราะเอสโตเนียเพิ่งได้รับเอกราชมาไม่นาน การออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่คูหาจึงเหมือนสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการได้รับเอกราช และการเลือกตั้งเป็นประเพณีของครอบครัวที่มาพบปะกัน ขณะที่คนบางกลุ่มยังมองว่าการเลือกตั้งออนไลน์ ไม่ปลอดภัย

3 เสาหลักแจ้งเกิดบริการออนไลน์

รากฐาน e-Service ของเอสโตเนีย ประกอบด้วย 3 เสาหลัก เริ่มจาก เสาที่ 1 Confidentiality คือ การที่คนสามารถยืนยันตัวตนผ่าน e-identification ได้อย่างปลอดภัย มั่นใจว่าข้อมูลต่างๆ เป็นความลับ ปัจจุบันมี “อุปกรณ์” ในการยืนยันตัวตน 3 รูปแบบ คือ 1.บัตรประชาชนที่มีชิป 2.โมบาย ไอดี ซึ่งเป็นซิมการ์ดที่ใช้ยืนยันตัวตน 3.สมาร์ท ไอดี แอปพลิเคชันที่ใช้ยืนยันตัวตน โดยอุปกรณ์เหล่านี้ จะต้องใช้ร่วมกับ PIN 1 และ PIN 2 โดย PIN 1 ใช้กับการยืนยันตัวตน เช่น การล็อกอินเข้าระบบต่างๆ และ PIN 2 ใช้ในการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) ซึ่งเทียบเท่ากับการลงนามบนกระดาษ มีผลผูกพันทางกฎหมาย

เสาที่ 2 คือ Availability หมายถึง ข้อมูลต้องเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยสิ่งที่สนับสนุนสิ่งนี้คือ X-Road พัฒนาโดยบริษัท Cybernetica X-road เป็น Secure Data Exchange Infrastructure ที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้อย่างปลอดภัย ด้วยการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่ง โครงสร้างการจัดเก็บข้อมูลของเอสโตเนียเป็นแบบ Decentralized คือ แต่ละหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของตนเอง ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเดียวกันซ้ำในสองที่ (Once-only Principle) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

เสาที่ 3 คือ Integrity หรือ ความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล ไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูล เพราะมีการนำ KSI Blockchain มาใช้ในการรักษาความปลอดภัยในข้อมูลอ่อนไหวหรือ Sensitive Data การพัฒนา KSI Blockchain มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เอสโตเนียเคยผ่านการถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Cyberattack) ครั้งใหญ่ระดับประเทศมาเมื่อปี 2550 ระบบทุกอย่างล้มสลายและไม่มีการแบ็กอัปข้อมูลเอาไว้ จึงต้องใช้เทคโนโลยียกระดับความปลอดภัย และมีการสำรองข้อมูลต่างๆ (Back Up) ไว้ในต่างประเทศอีกชุดหนึ่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลหาย

ในเรื่องของแหล่งรวบรวมข้อมูล เอสโตเนียมี State Portal Website (eesti.ee) เป็น One-stop Shop สำหรับบริการภาครัฐและเป็นแหล่งรวมข้อมูลสำหรับบุคคลและธุรกิจ ที่ออกแบบให้เข้าใจง่าย ใช้งานง่าย นอกจากการดูข้อมูลและใช้บริการ e-Service ต่างๆ ของภาครัฐแล้ว ยังมี Data Tracker ทำให้ประชาชนเจ้าของข้อมูลสามารถดูได้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลถูกหน่วยงานใดเรียกดู หากมีความผิดปกติสามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ทันที

การที่เอสโตเนียเป็นแหล่งรวมสตาร์ตอัพของโลก ยังมาจากสาเหตุสำคัญคือการที่รัฐบาลทำให้เอสโตเนียมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เช่น สามารถตั้งบริษัทได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง และยังมีโครงการ e–Residency ที่อนุญาตให้คนต่างชาติมาสมัครเป็นพลเมืองของเอสโตเนีย เพื่อจัดตั้งบริษัทสัญชาติเอสโตเนีย ซึ่งสามารถทำออนไลน์ได้ 100% ลดความยุ่งยากในการติดต่อกับรัฐบาล และยังได้สิทธิประโยชน์ European Single Market สามารถทำตลาดในยุโรปได้ โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เอสโตเนีย

หนุนเอกชนช่วยขับเคลื่อน e-Estonia

นอกจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลแล้ว กลยุทธ์สำคัญคือการเน้นสนับสนุนบริษัทเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา และขับเคลื่อน e-Estonia

2 บริษัทที่มีบทบาทอย่างมาก ได้แก่ Cyberne tica ผู้พัฒนา X– Road ให้กับรัฐบาลเอสโตเนีย ปัจจุบันมี Commercial Product คือ การเข้าไปพัฒนา Unified Exchange Platform (UXP) ซึ่งต่อยอดจาก X–Road ให้กับรัฐบาลและหน่วยงานทั่วโลก เช่น ในปี 2564 ได้ร่วมกับพันธมิตรในมาเลเซีย นำเทคโนโลยี UXP เข้าไปสร้าง Data Exchange Infrastructure ให้กับรัฐบาลกลางแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อให้บริการ e-Service เมื่อดำเนินการเสร็จ มาเลเซียจะกลายเป็นเคสการใช้งาน UXP ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะที่บริษัท Guard time ผู้พัฒนา KSIBlock chain ได้นำ Blockchain ไปใช้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธนาคาร ทางการทหาร โทรคม นาคม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนา In frastructure รองรับ Web3 คือ ข้อมูลที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตถูกเก็บแบบ de centralized และผู้ใช้เป็นเจ้าของข้อมูล ข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ ยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงจากการโชว์ Token โดยไม่จำเป็นต้องแสดงข้อมูลทั้งหมด

Guardtime ยังกำลังพัฒนา Alphabill ซึ่งเป็น Blockchain ที่สามารถรองรับปริมาณธุรกรรม (Transaction) ที่เข้ามาจำนวนมากได้ ช่วยให้การตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมทำได้รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย และลดการใช้พลังงาน โดย Alphabill มีการออกแบบที่ต่างไปจาก Blockchain เดิมอย่างสิ้นเชิง เปลี่ยนจากแนวคิด Account-based (องค์กร) แบบเดิมเป็น Bill-based (รายการ) ซึ่งจะทำให้ Blockchain มีความสามารถในการรองรับธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น

@@@@@@@@@


บทสรุปกรณีศึกษา “เอสโตเนีย” ความสำเร็จผ่านวิสัยทัศน์ที่ผู้นำมองเห็นโอกาส วางยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนนโยบาย พร้อมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับภาคเอกชน ถือเป็นแบบอย่างและบทเรียนสำคัญสำหรับรัฐบาลทั่วโลกได้เป็นอย่างดี.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ