นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี แถลงข่าวครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่า การทำงานระหว่างปี 2566-2570 ต้องให้อีอีซี ก้าวไปสู่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน เป็นความหวังของคนไทย และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ โดยจะทบทวนแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี ให้สอดคล้องกับบริบทโลกในอนาคต ที่จะศึกษาถึงปัจจัยจากสถานการณ์ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เช่น ผลกระทบจากโควิด-19 การถดถอยของเศรษฐกิจโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์อุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อทำให้แผน ภาพรวมของอีอีซีฉบับใหม่รองรับการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าให้เป็นไปตามเป้า 2.2 ล้านล้านบาท หรือปีละประมาณ 400,000 ล้านบาท ตามแผนเดิมที่อีอีซีวางไว้
“หากแกนนำทางการเมืองเป็นคนละขั้วกับปัจจุบันได้เข้ามาเป็นรัฐบาลและต้องการยกเลิกอีอีซี ก็ต้องฉีกกฎหมายทิ้ง เพราะอีอีซีเป็นกฎหมาย หรือไม่ก็ต้องทำกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับ แต่อีอีซีเป็นของดีพอ หากจะทิ้งกันง่ายๆ คนในภาคตะวันออก และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยไม่ยอมแน่ อย่างไรก็ตาม อีอีซีไม่ใช่พื้นที่พิเศษเพียงแห่งเดียว รัฐบาลใหม่อาจคิดทำแบบเดียวกันอีกก็ได้”
ส่วนการแก้ไขสัญญารถไฟเชื่อมสามสนามบิน ตนในฐานะคนกลางต้องหาทางไกล่เกลี่ยระหว่างบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ของกลุ่มซีพีกับคู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ การรถไฟ แห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้ได้ ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเริ่มตอกเสาเข็มเพื่อเริ่มโครงการได้เมื่อใด และจะสร้างเสร็จเมื่อใด เพราะยังตกลงประเด็นเพื่อแก้ไขสัญญาไม่ได้ ไม่ใช่ประเด็นที่ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ตัดสินใจให้แก้ไขสัญญา ส่วนเป้าหมายที่วางไว้ต้องการให้สร้างเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2570 อย่างไรก็ตาม สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ก่อน โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปีเดียวกัน.
ขอบคุณภาพจาก : https://www.eeco.or.th/th