ขาขึ้นยังไม่จบนักวิเคราะห์ คาดดอกเบี้ยไทยขึ้นแตะ 2% ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวรับดอกเบี้ยสูงได้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ขาขึ้นยังไม่จบนักวิเคราะห์ คาดดอกเบี้ยไทยขึ้นแตะ 2% ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวรับดอกเบี้ยสูงได้

Date Time: 30 มี.ค. 2566 11:21 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Latest


เป็นไปตามคาดการณ์หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยจาก 0.25% ขึ้นสู่ 1.75% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจไม่ใช่จุดที่สูงที่สุด โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่ากันว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งที่ 0.25% ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นทะลุ 2% ในช่วงกลางปีนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวยังรับกับดอกเบี้ยระดับสูงได้


ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ทางศูนย์วิจัยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในการประชุมครั้งถัดไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 2.0% จากปัจจัยสนับสนุน มาจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน โดย กนง. คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 28 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ 25.5 ล้านคน ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อเดือน ม.ค. ใกล้เคียงกับที่ Krungthai COMPASS คาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามา 27.1 ล้านคน


โดยการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวจะทำให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวอย่างทั่วถึงมากขึ้นและส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน ทั้งนี้แม้ว่า กนง. จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงเป็นร้อยละ 3.6 จากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 3.7 ส่วนหนึ่งจากการส่งออกสินค้าซึ่งหดตัวในช่วงที่ผ่านมาแต่ กนง. มองว่าการส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัวและจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังได้ ด้วยมุมมองของ กนง. ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง Krungthai COMPASS คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้ กนง. ปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อได้

ทั้งนี้ กนง. มองว่าเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด และกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่ง Krungthai COMPASS ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องจากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับเพิ่มขึ้นและปัจจัยกดดันจากด้านต้นทุน (cost-push) เริ่มลดลง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในช่วงกลางปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (สัดส่วน 67.1% ในตะกร้าเงินเฟ้อ) ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเช่นกันจากราคาอาหาร (สัดส่วน 19.8%) ที่ชะลอตัวลงเนื่องจากผู้ประกอบการได้ทยอยส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังราคาอาหารในช่วงปี 2565 แล้ว โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักปรับขึ้นราคาสินค้าครั้งเดียว จึงคาดว่าราคาอาหารอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีกได้ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมอาหาร (สัดส่วน 47.3%) ยังไม่มีสัญญาณที่ชะลอลงและมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการในบางภาคธุรกิจซึ่งแบกรับต้นทุนไว้อาจปรับราคาสินค้าขึ้นได้ อีกทั้ง ราคาสินค้าอาจถูกกดดันจากด้านอุปสงค์ (demand-pull)

หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแรงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีก สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ที่บ่งชี้ถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่องและมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ Krungthai COMPASS จึงคาดว่า กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในการประชุมครั้งถัดไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 2.0%


อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินไทยยังมีเสถียรภาพดี สามารถรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาของสถาบันการเงินในต่างประเทศได้ แม้ว่าวิกฤติสถาบันการเงินโดยเฉพาะกรณี SVB และ Credit Suisse จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสร้างความกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบานปลาย แต่การเข้ายุติปัญหาอย่างฉับพลันของทางการสามารถป้องกันการลุกลาม ทั้งยังเสริมสร้างความมั่นใจต่อระบบการเงิน ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสที่โลกจะเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ จากการประเมินสถานะของระบบสถาบันการเงิน Krungthai COMPASS มองว่า ระบบการเงินของทั้งสหรัฐฯ และยุโรปโดยภาพรวมยังมีความเข้มแข็ง ทั้งในแง่เงินทุนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านเครดิต ความเพียงพอของสภาพคล่อง และสัดส่วนหนี้ NPL ในระดับต่ำ ส่วนไทยและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียนั้นอยู่ในสถานะที่ดีกว่าชาติตะวันตก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความพยายามป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำรอยวิกฤติการเงินเมื่อปี 2540 ขึ้นอีก

ในกรณีของไทย มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital adequacy ratio) ถึง 19.4% และมีอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องรองรับกระแสเงินไหลออกที่เพียงพอ (Liquidity coverage ratio) ณ ระดับ 197.3% ถือเป็นอันดับสองในกลุ่ม ASEAN-5 รองจากอินโดนีเซีย ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ไทยมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อยอดหนี้รวมอยู่ที่ 2.7% เป็นไปตามเกณฑ์สากลที่กำหนดไว้ไม่ควรเกิน 5% ฐานะของสถาบันการเงินไทยที่มีเสถียรภาพดี ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้ ธปท. เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ต่อไป


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) มองว่า ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ กนง. ยืนยันที่จะดำเนินการให้อัตราดอกเบี้ยกลับไปอยู่ในระดับปกติอย่างช้าๆ) สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%


และอีกครั้งในเดือน พฤษภาคม และคงระดับ 2.00% ไปถึงสิ้นปี เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเฟ้อปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1%-3% โดย กนง. คาดว่าเงินเฟ้อปี 2566 จะอยู่ที่ 2.9% และจะลดลงไปที่ระดับ 2.4% ในปี 2567 นอกจากนี้ กนง. ระบุพร้อมปรับขนาด-เงื่อนไขขึ้นดอกเบี้ยหากแนวโน้มเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อเปลี่ยนไป จากคาดหลังผลประชุมกนง. ออกนั้น Bond yield ในตลาดรองตราสารหนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นไปตามที่ตลาดคาด


ผลกระทบต่อ กองทุนรวมตลาดเงิน คาดว่าจะยังไม่มีผลกระทบมากนัก ผลตอบแทนกองทุนยังไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากเป็นไปตามตลาดคาด ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดเงินมีค่อนข้างสูงทั้งจากปัจจัยภายในและเงินเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อตราสารภาครัฐ ระยะสั้น ทำให้ ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ครบเดือน เม.ย. อยู่ที่ 1.05%+/- ครบเดือน พ.ค. อยู่ที่ 1.3%+/- ต่ำกว่า ดอกเบี้ยนโยบายอยู่มาก ไม่สะท้อนดอกเบี้ยนโยบาย


อย่างไรก็ดี หากเงินเก็งกำไรหมดไป ผลตอบแทนตราสารน่าจะปรับตัวสูงขึ้นตาม และทำให้ผลตอบแทนกองทุนปรับตัวสูงขึ้นคาดว่า จะประมาณอีก 1 เดือน ผลกระทบต่อ กองทุนรวมตราสารหนี้คาดว่าจะยังไม่มีผลกระทบมากนัก ผลตอบแทนตราสารหนี้น่าจะผันผวน ในกรอบ เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายใกล้จุดสูงสุดแล้ว บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) แนะนำเพิ่มเงินลงทุน บางส่วนในกองทุน ตราสารหนี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์