นักขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่ชอบซื้อประกันพ.ร.บ.รถมากที่สุด คปภ.หวั่นเสียสิทธิประโยชน์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

นักขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่ชอบซื้อประกันพ.ร.บ.รถมากที่สุด คปภ.หวั่นเสียสิทธิประโยชน์

Date Time: 20 มี.ค. 2566 15:27 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • นักขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่ชอบซื้อประกันภัยพ.ร.บ.มากที่สุด เกิดอุบัติเหตุครั้งใดต้องไปเคลมกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแทน คปภ.หวั่นเสียสิทธิประโยชน์ จับมือกรมการปกครองเร่งออกให้ความรู้

Latest


นักขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่ชอบซื้อประกันภัยพ.ร.บ.มากที่สุด เกิดอุบัติเหตุครั้งใดต้องไปเคลมกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแทน คปภ.หวั่นเสียสิทธิประโยชน์ จับมือกรมการปกครองเร่งออกให้ความรู้


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติข้อมูลรถจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก และข้อมูลการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ที่มีผลใช้บังคับ ในปี 2565 นั้น เราพบว่าการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์ มีสัดส่วน 90% ส่วนการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ มีสัดส่วนเพียง 64% ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนที่ต่ำ

เมื่อมีประชาชนไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ประชาชนเสียสิทธิประโยชน์ในการได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ด้วยเช่นกัน โดยผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ. ก็จะมาขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแทน

ปัจจุบันกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีแนวโน้มการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2565 กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถเป็นจำนวน 8,024 ราย รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 157 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย พบว่า จะมีการเรียกร้องจากกรณีรถไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. กว่า 80% ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการบูรณาการร่วมกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยที่มีบุคลากรใกล้ชิดประชาชนได้ชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการมีประกันภัย พ.ร.บ.

อย่างไรก็ตาม การทำประกันภัย พ.ร.บ. มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยจะได้รับความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย อันเนื่องมาจากการประสบภัยจากรถ โดยผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นเพื่อเยียวยาความเสียหายอย่างทันท่วงทีและไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิด รวมถึงค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่าเสียหายเบื้องต้น

สำหรับผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. จะแบ่งเป็น 2 ส่วน หลักๆ คือ

ส่วนแรก ค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นการจ่ายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด โดยจ่ายให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ซึ่งจ่ายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน โดยจ่ายเป็น ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 30,000 บาท ค่าปลงศพ หรือค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ รายละ 35,000 บาท รวมทั้งกรณีที่ได้รับบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะจะได้รับสูงสุดไม่เกินรายละ 65,000 บาท

ส่วนที่ 2 ค่าสินไหมทดแทน (ค่าเสียหายส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น) จ่ายให้ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ความรับผิดแล้ว โดยจ่ายกรณีบาดเจ็บจะได้รับความคุ้มครองสูงสุดตามกรมธรรม์ฯ ไม่เกิน 80,000 บาท (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว)

กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท แล้วแต่กรณี (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว)

กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท (รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว) และหากเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จะได้รับค่าชดเชยรายวันอีกวันละ 200 บาทไม่เกิน 20 วันอีกด้วย

ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ กรมการปกครอง ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน

ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดในการเสริมสร้างความรู้และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย พ.ร.บ. ของประชาชนเจ้าของรถในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์