อนุกรรมการฯ กิจการโทรทัศน์มีมติชง กสทช.ยกเลิกประกาศมัสต์แฮฟ (Must Have) ทั้งฉบับ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หลังทำให้ไทยถูกตั้งราคาซื้อลิขสิทธิ์แพงขึ้น และกลายเป็นภาระของรัฐที่ต้องจ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์ เหตุเอกชนไม่สนใจประมูล ผู้ขายลิขสิทธิ์จะกำหนดให้ผู้ประมูลถ่ายทอดทางทีวีฟรีอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2566 คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ที่มี น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธาน ได้มีมติยกเลิกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือที่เรียกกันว่าประกาศมัสต์แฮฟ (Must Have) ทั้งฉบับ
โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า การยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวจะช่วยป้องกันการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาว่า อาจเป็นปัจจัยทำให้มีการเพิ่มค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาครั้งสำคัญที่ไทยต้องจ่ายเป็นจำนวนมาก และโดยปกติแล้วผู้ขายลิขสิทธิ์รายการกีฬามักมีข้อกำหนดให้ผู้รับสิทธิ์ถ่ายทอดนำไปออกทางฟรีทีวีด้วยอยู่แล้วเพื่อเพิ่มยอดผู้ชม จึงสมควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการมีข้อสรุปดังกล่าวแล้ว ยังต้องนำเสนอที่ประชุมบอร์ดกสทช.รับหลักการ แล้วจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก่อน จึงจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะเร่งด่วนก่อนเพื่อให้แล้วเสร็จทันการแข่งขันซีเกมส์ 2023 ต้นเดือนพ.ค.นี้
ทั้งนี้ ประกาศมัสต์แฮฟ ของ กสทช. มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธ์ิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป โดยให้ 7 รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่ต้องให้บริการแก่ประชาชนผ่านฟรีทีวี ได้แก่ 1.การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2.การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 3.กีฬาเอเชียนเกมส์ 4.อาเซียนพาราเกมส์ 5.เอเชียนพาราเกมส์ 6.กีฬาโอลิมปิก 7.กีฬาพาราลิมปิก ซึ่งเมื่อมีกฎนี้ขึ้นมา ไม่ว่าใครที่ประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา 7 ประเภทดังกล่าวมา ก็จำเป็นจะต้องนำออกอากาศบนโทรทัศน์ระบบฟรีทีวีเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสรับชมอย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม การกำหนดกฎ “ต้องมี” ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยถูกตั้งราคาซื้อลิขสิทธิ์แพงขึ้น และเมื่อซื้อมาแล้วจะต้องนำมาแจกจ่ายให้ทุกช่องได้ถ่ายทอดอย่างทั่วถึง และมีรายได้จากการขายโฆษณาเป็นหลักนั้น ทำให้โมเดลนี้เริ่มไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากการขายโฆษณาทางโทรทัศน์ไม่เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อน จากการแข่งขันของช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นหลังการประมูลทีวีดิจิทัลและการแข่งขันกับบริการทีวีบนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ และเมื่อคนไทยต้องได้ชมและอยากชม หลายครั้งจึงตกเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องจัดสรรเงินมาซื้อลิขสิทธิ์ ยกตัวอย่างครั้งล่าสุดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์ สำนักงาน กสทช.ต้องขอให้บอร์ด กสทช.อนุมัติเงินสนับสนุนแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีเอกชนใดสนใจซื้อ โดยก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ได้ชี้แจงว่า การถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ 2023 อยู่ในประกาศมัสต์แฮฟ ซึ่งคนไทยต้องได้รับชม อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่มีทีมชาติไทยเข้าร่วม เข้าใจว่า กกท.ใช้เงินกองทุนที่มีอยู่มาสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องมาขอเงินจาก กสทช.อีก
ด้าน นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า การยกเลิกประกาศมัสต์แฮฟเป็นเรื่องที่พูดกันมาพักใหญ่ แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้เสียที โดยมองว่าหากศึกษาอย่างถ้วนถี่และรับฟังความคิดเห็นรอบด้านแล้ว บอร์ด กสทช.พร้อมพิจารณาเรื่องดังกล่าวแน่นอน.