จ้องแม่ค้าไลฟ์สดกลุ่มแรก สรรพากรใช้ “เอไอ” ส่องผู้หลบเลี่ยงภาษี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จ้องแม่ค้าไลฟ์สดกลุ่มแรก สรรพากรใช้ “เอไอ” ส่องผู้หลบเลี่ยงภาษี

Date Time: 13 มี.ค. 2566 05:03 น.

Summary

  • “สรรพากร” เริ่มนำระบบเอไอสุ่มตรวจสอบผู้มีรายได้ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของผู้เสียภาษี ป้องกันการหลบเลี่ยงการเสียภาษี

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

“สรรพากร” เริ่มนำระบบเอไอสุ่มตรวจสอบผู้มีรายได้ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของผู้เสียภาษี ป้องกันการหลบเลี่ยงการเสียภาษี “ลวรณ” ย้ำจะพยายามทำเรื่องเสียภาษีให้เป็นเรื่องง่าย หากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ไม่ต้องกังวลเรื่องเสียภาษี

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ในหลายประเทศได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาช่วยตรวจสอบระบบการชำระภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีทั้งหมด รวมถึงประเทศไทย ซึ่งได้นำเอไอมาทดลองการตรวจสอบการชำระภาษีผู้มีหน้าที่เสียภาษีทุกคน โดยเฉพาะตรวจสอบจากการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆในการค้าขาย ซึ่งจะใช้วิธีการสุ่มตรวจว่าผู้ที่ทำการค้าขายผ่านแพลต ฟอร์มออนไลน์นั้น ได้ชำระภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่

ทั้งนี้ กรมสรรพากรใช้ระบบออนไลน์เพื่อเปิดให้ผู้เสียภาษีทำการชำระภาษีของบุคคลธรรมดา มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และขณะนี้มีผู้ยื่นแบบเพื่อชำระภาษีกว่า 90% ยื่นแบบชำระภาษีทางออนไลน์ ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจใบกำกับภาษีซื้อ ภาษีขายนั้น กรมสรรพากรได้นำระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax) มาให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระภาษีของผู้ประกอบการ

นายลวรณ กล่าวว่า การนำระบบออนไลน์มาช่วยในการจัดเก็บภาษีและการชำระภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษี เพื่ออำนวยความสะดวก สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ทั้งผู้จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษี โดยกรมสรรพากรจะพยายามทำให้การเสียภาษีเป็นเรื่องง่าย นอกจากช่วยลดต้นทุนการใช้กระดาษแล้ว ผู้ยื่นแบบภาษี ไม่ต้องเดินทางมายังที่ทำการของกรมสรรพากร ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย อีกทั้งผู้ชำระภาษีจะได้เงินคืนเร็วขึ้นด้วย

“ผมขอย้ำว่าผู้มีรายได้ต้องเสียภาษี ไม่ต้องกังวล หากยื่นแบบภาษีถูกต้อง แต่หากผู้เสียภาษีหลบเลี่ยงการเสียภาษี จากนี้ไปการหลบเลี่ยงจะทำได้ยากและลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะกรมสรรพากรมีเครื่องมือในการตรวจสอบการเสียภาษีหลากหลายมิติ”

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเรื่องการยื่นแบบแสดงภาษีหรือการชำระภาษีนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจยากและซับซ้อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ดังนั้น กรมสรรพากรจึงขอแนะนำให้เอสเอ็มอีสามารถใช้บริการผู้ให้บริการทำบัญชี และการยื่นแบบแสดงภาษีที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากรแล้ว เป็นผู้ยื่นแบบภาษี ลดความผิดพลาดต่างๆ และไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจัดเก็บภาษีย้อนหลังอีกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้เริ่มใช้เอไอสุ่มตรวจแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการไลฟ์สดขายของแล้ว เพื่อตรวจสอบว่ามีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ ยังจะใช้เทคโนโลยี Web Scraping คือเทคนิคการดึงข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ตามรูปแบบที่กำหนด เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ตามจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ข้อมูลราคาและประเภทสินค้าที่ค้าขายผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากที่มีการโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีให้กับกรมสรรพากรและกรณีที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปต่อปี แต่มีเงินที่โอนเข้ารวมกันเกินกว่า 2 ล้านบาท ก็จะต้องนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรด้วย ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรรู้ข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆด้วยว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีแล้วหรือไม่

ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบันเป็นยุคสังคมไร้เงินสด มีการโอนเงินระหว่างกันมากขึ้น ฉะนั้นกรมสรรพากร ก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดการโอนเงินนั้น เพื่อการค้าขาย หรือการโอนเงินชำระสินค้า ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบอยู่แล้ว ผู้ที่มีการโอนเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ต้องกังวล หากไม่ได้ทำการค้าขาย หรือเป็นผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ