แก๊งมิจฉาชีพระบาดหนัก อ้างชื่อบริษัทเอกชนหลอกปล่อยกู้ออนไลน์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แก๊งมิจฉาชีพระบาดหนัก อ้างชื่อบริษัทเอกชนหลอกปล่อยกู้ออนไลน์

Date Time: 6 มี.ค. 2566 05:21 น.

Summary

  • แก๊งมิจฉาชีพอ้างชื่อบริษัทเอกชนหลอกปล่อยเงินกู้ออนไลน์ พอเหยื่อยื่นกู้ รีบส่งหนังสือถึงเหยื่อโดยใช้หัวกระดาษ “ธปท.” อ้างข้อมูลลงทะเบียนไม่ถูกต้อง ทำระบบถูกล็อกและโดนอายัดเงิน ต้องแก้ไขข้อมูล

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

แก๊งมิจฉาชีพอ้างชื่อบริษัทเอกชนหลอกปล่อยเงินกู้ออนไลน์ พอเหยื่อยื่นกู้ รีบส่งหนังสือถึงเหยื่อโดยใช้หัวกระดาษ “ธปท.” อ้างข้อมูลลงทะเบียนไม่ถูกต้อง ทำระบบถูกล็อกและโดนอายัดเงิน ต้องแก้ไขข้อมูลปลดล็อกระบบและต้องยืนยันตัวตน พร้อมให้เหยื่อโอนเงินตามยอดเสี่ยง ใครหลงเชื่อ ถูกเชิดเงินเกลี้ยง!! ส่วนแก๊งหลอกดูดเงินในบัญชีธนาคารผ่านการกดลิงก์-โหลด แอปที่ส่งผ่านไลน์ยังระบาดหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แก๊งมิจฉาชีพหลอกดูดเงิน ยังคงแอบอ้างชื่อหน่วยงานต่างๆของราชการ อย่างกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา หลอกลวงประชาชน โดยโทรศัพท์หรือส่งไลน์มาหา อ้างให้ปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคล และให้กดลิงก์ หรือโหลดแอปพลิเคชันที่ส่งมาให้ทางไลน์ หากใครหลงเชื่อใช้สมาร์ทโฟนกดลิงก์ หรือโหลดแอปจะถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารจนหมด ล่าสุด อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน หลอกประชาชนอีก ซึ่งมีผู้หลงเชื่อ และถูกดูดเงินจากบัญชีกว่า 16 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศแจ้งเตือนผ่านเว็บไซต์ www.moc.go.th ว่า มีผู้ไม่หวังดีสร้างเว็บไซต์ปลอมเลียนแบบเว็บกระทรวง ยืนยันว่า มีเว็บไซต์เดียว คือ www.moc.go.th เท่านั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อและอย่าเข้าใช้งานเว็บอื่นเด็ดขาด หากได้รับโทรศัพท์ หรือไลน์ที่อ้างให้ปรับปรุงข้อมูล สอบถามสายด่วนกระทรวง โทร.1203

นอกจากนี้ ยังแอบอ้างชื่อบริษัทเอกชนด้วย ล่าสุด นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา และกรรมการผู้จัดการบริษัท เค เอ สยาม แอสเซ็ทส์ จำกัด กล่าวว่า มิจฉาชีพปลอมแปลงเอกสารในนามบริษัท เค เอ สยาม แอสเซ็ทส์ จำกัด เพื่อปล่อยสินเชื่อเงินด่วน เงินกู้ออนไลน์ ซึ่งมีผู้หลงเชื่อติดต่อขอกู้เงินหลายราย แต่เมื่อยื่นกู้แล้ว แก๊งนี้จะส่งหนังสือด่วนที่สุด โดยใช้หัวกระดาษธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบริษัทส่งไปให้เหยื่อ เพื่อแจ้งให้ปลดล็อกและยกเลิกอายัดวงเงินในระบบ

โดยระบุว่า เหยื่อลงทะเบียนกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน ระบบกู้เงินไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเหยื่อได้ ทำให้ระบบถูกล็อกและอายัดเงินไว้ในระบบ เหยื่อต้องปลดล็อกระบบและแก้ไขข้อมูล จึงจะยกเลิกอายัดเงินได้ พร้อมกันนั้น ผู้กู้ต้องยืนยันตัวตนเข้าระบบตามยอดที่ระบบวัดค่าความเสี่ยงได้ (กรณีเหยื่อรายนี้ ขอกู้ 50,000 บาท แก๊งมิจฉาชีพอ้างว่า มีความเสี่ยง 20% ของยอดกู้ จึงแจ้งให้เหยื่อโอนเงินก่อน 10,000 บาท ตามยอดที่ระบบความเสี่ยงวัดค่าได้) จากนั้นสถาบันการเงินจะยกเลิกอายัด และโอนเงิน 10,000 บาทคืนเข้าระบบถอนเงิน โดยผู้กู้สามารถถอนเงินได้ 60,000 บาท

นอกจากนี้ ในหนังสือดังกล่าว ยังระบุถึงผลเสียที่จะได้รับหากผู้กู้ไม่แก้ไขปลดล็อกระบบ ดังนี้ 1.ไม่ได้รับวงเงินกู้ และต้องชำระเงินคืนบริษัททั้งหมด ตามยอดวงเงินถูกอายัด 2.หากไม่คืนเงินทั้งหมด จะถือว่าเป็นบุคคลแอบอ้าง หวังฉ้อโกง ทำผิดสัญญาเงินกู้ มีโทษตามกฎหมาย บริษัทต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด 3.ติดแบล็กลิสต์ 10 ปี ไม่สามารถทำอะไรได้จนกว่าจะครบกำหนด “กรณีนี้มีเหยื่อหลายรายร้องเรียนมาที่บริษัท ยืนยันว่า บริษัท เค เอ สยาม แอสเซ็ทส์ จำกัด รวมถึงบริษัทในเครือ กลุ่มบริษัทสากลธุรกิจ เลิศรวมมิตรจำกัด มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยเงินกู้ออนไลน์ บริษัทไม่เคยทำธุรกิจทางการเงินเลย ขอให้อย่าหลงเชื่อ หรือให้ข้อมูลส่วนตัว หรือรูปบัตรประชาชน หรือโอนเงินให้มิจฉาชีพเป็นอันขาด และได้แจ้งความลงบันทึก ที่ สน.หัวหมากไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้ว”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ