บอร์ดอีอีซีไม่อนุมัติการแก้ไขสัญญารถไฟไฮสปีดเทรน เชื่อมสามสนามบิน ตามที่กลุ่มซีพีร้องขอ เลขาฯ ครม.ชี้การแก้สัญญาอาจต้องรอรัฐบาลใหม่มา เพราะหากมีการยุบสภารัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจทำได้ ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟม.สรุปรายละเอียดหลังศาลปกครองยกฟ้องคดีบีทีเอสฟ้องประมูลสายสีส้ม
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การเริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน) เชื่อมสามสนามบิน จะไม่สามารถเริ่มก่อสร้างตามกำหนดล่าสุดเดือน มิ.ย.2566 เพื่อเปิดดำเนินการปี 2570 เพราะที่ประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 มี.ค.66 ไม่นำเรื่องการแก้ไขสัญญาการร่วมทุนในโครงการนี้ที่เจรจาจบแล้ว ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่มซีพี เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม หลังจากกลุ่มซีพีร้องขอว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ รัฐบาลมอบหมายให้ รฟท.ไปเจรจามาใหม่ เพราะไม่เห็นด้วยที่กลุ่มซีพีขอแก้ไขสัญญาให้รัฐชำระค่าก่อสร้างเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21 เป็นต้นไป ในรูปแบบก่อสร้างไป จ่ายไป จากเดิมก่อสร้างให้เสร็จในปีที่ 6 และรัฐจ่ายค่าก่อสร้างในปีที่ 10 วงเงิน 133,475 ล้านบาท โดยให้ยึดรูปแบบการจ่ายเงินรัฐจ่ายค่าก่อสร้างเช่นเดิม
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวทำให้การแก้ไขสัญญาโครงการร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงสามสนามบิน ไม่สามารถดำเนินการได้ทันในรัฐบาลชุดนี้ โดยนางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวว่า กรณีจะมีการเสนอให้ ครม.แก้ไขสัญญาโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นั้น หากเป็นรัฐบาลรักษาการนั้นไม่สามารถที่จะทำได้เนื่องจากจะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า บางอย่างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก็ต้องเป็นไปตามมติเห็นชอบร่วมกันของที่ประชุม รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ไม่ต้องการให้เป็นปัญหาหรือเป็นประเด็นที่สร้างความไม่น่าเชื่อถือ เรื่องสำคัญวันนี้คือ ในอีอีซีมีการลงทุนเกิดขึ้นมากแล้ว ดังนั้น เรื่องของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จึงต้องหาวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องในการดำเนินการให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้มีปัญหา
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องกรณีบีทีเอสฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชน ว่า ได้ให้ รฟม.ไปคัดคำพิพากษามา กลับสรุปมายังฝ่ายกฎหมายกระทรวงคมนาคมก่อนที่จะเสนอให้ตนพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จะสามารถนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาทันสมัยรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ในเรื่องนี้ ตนยังตอบไม่ได้ แต่พยายามทำตามขั้นตอนทุกอย่างให้รอบคอบที่สุดตามที่มีอำนาจ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการยุบสภา แต่หากยุบสภาแล้วอยู่ในช่วงของการรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นก็ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า อะไรที่เป็นโครงการอยู่ในแผนงานอยู่แล้วสามารถดำเนินการได้.