กกร.ลดเป้าส่งออกปีนี้ -1 ถึง 0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กกร.ลดเป้าส่งออกปีนี้ -1 ถึง 0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลก

Date Time: 2 มี.ค. 2566 05:32 น.

Summary

  • นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกของไทย

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ที่มีโอกาสหดตัวในกรอบ-1 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 1-2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักๆชะลอตัว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว

โดยคาดว่าตัวเลขการท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจะอยู่ระดับ 25-30 ล้านคน ดังนั้นจึงยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวที่ 3-3.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.7-3.2% ตามกรอบเดิม

“กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิด technical recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในเชิงเทคนิค แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2565 จะหดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2565 แต่คาดว่าในไตรมาส 1 ปีนี้ จะไม่หดตัวต่อเนื่อง จนกลายเป็น technical recession โดยการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้ฟื้นตัวได้”

ขณะที่ปีนี้จะมีการเลือกตั้ง จึงคาดว่าจะเห็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือน ส.ค.นี้ ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจไทยควรให้ความสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รวมทั้งอาศัยโอกาสจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่องในช่วงนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเศรษฐกิจเดิม

“ปีนี้ภาพของเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากการส่งออกไปเป็นภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐเพราะส่งออกจะได้รับผลกระทบ ขณะที่การลงทุนเองระยะสั้น จะชะลอตัว เพื่อรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวกับการส่งออกอาจชะลอเช่นกัน แต่การลงทุนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะเติบโตได้ดี”

สำหรับปัจจัยที่ภาคเอกชนยังคงกังวล ได้แก่ ค่าแรงงาน ความผันผวนของค่าเงินบาท และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น การแก้ไขปัญหา รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ