สยบธุรกิจเหล็กโกง VAT สรรพากรรื้อใหม่สั่งให้ผู้ซื้อนำส่งภาษี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สยบธุรกิจเหล็กโกง VAT สรรพากรรื้อใหม่สั่งให้ผู้ซื้อนำส่งภาษี

Date Time: 27 ก.พ. 2566 05:08 น.

Summary

  • สรรพากรลุยแก้กฎหมาย ปราบธุรกิจเหล็กออกใบกำกับภาษีปลอม เร่งเข็น“รีเวิร์ส ชาร์จ” ตีกรอบให้ผู้ซื้อสินค้า-บริการ เป็นผู้นำส่งภาษี VAT พร้อมเปิดทางให้ ผู้ผลิตรายใหญ่ หัก-นำส่งภาษีซื้อได้เอง

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

สรรพากรลุยแก้กฎหมายปราบธุรกิจเหล็กออกใบกำกับภาษีปลอม เร่งเข็น“รีเวิร์ส ชาร์จ” ตีกรอบให้ผู้ซื้อสินค้า-บริการ เป็นผู้นำส่งภาษี VAT พร้อมเปิดทางให้ ผู้ผลิตรายใหญ่ หัก-นำส่งภาษีซื้อได้เอง ป้องกันถูกซาเล้งมั่วนิ่ม ใช้ใบกำกับภาษีปลอม กระทบโรงผลิตเหล็กถูกหางเลขเข้าข่ายโกงเงินภาษี

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมกำลังเดินหน้าแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก หลังมีการตรวจพบปัญหาใบกำกับภาษีปลอมจำนวนมากหลายคดี ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยขณะนี้กรมกำลังปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แทนผู้ขายสินค้า (รีเวิร์ส ชาร์จ) ได้ ซึ่งแตกต่างจากเดิมการนำส่งและออกหลักฐาน หรือใบกำกับภาษี จะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ขายเท่านั้น เพื่อต้องการช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งคาดจะออกกฎหมายได้ภายในปีนี้ และเริ่มใช้ปีหน้า

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็ก มีผู้เกี่ยวข้องรายเล็ก รายใหญ่จำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ โรงหลอม ดีลเลอร์ ผู้รวบรวมไปจนถึงรถซาเล้งรับซื้อของเก่า ซึ่งบางรายก็มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้อง บางส่วนไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เวลายื่นภาษีจะต้องนำภาษีซื้อและภาษีขายมาคำนวณ ซึ่งการคิดภาษีขายมักไม่มีปัญหา เพราะสามารถออกเองได้ แต่จะมีปัญหาตรงภาษีซื้อ ที่จะต้องขอจากรายเล็กที่มาขายของให้ ซึ่งบางรายไม่มี หรือออกใบปลอมมา ก็ทำให้โรงผลิตเหล็กเข้าข่ายปลอมภาษีไปด้วย ดังนั้นกรมจึงแก้กฎหมายให้ผู้ซื้อที่อยู่ในระบบภาษีถูกต้องสามารถเป็นผู้นำส่งภาษีแทนผู้ขาย เพื่อช่วยลดปัญหาการปลอมแปลง

ทั้งนี้ เบื้องต้นการออกกฎหมายนี้จะนำร่องสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กก่อน ซึ่งเปิดให้ผู้ซื้อเป็นผู้นำส่งภาษีและออกหลักฐานการเสียภาษีได้ทั้ง 2 ขา เช่น ต่อไปหากรถซาเล้งมาขายเหล็กให้ โรงผลิตเหล็กก็สามารถคิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อ และนำส่งให้สรรพากรได้เลย ไม่ต้องเสี่ยงจากใบกำกับภาษีปลอม ขณะเดียวกันก็เป็นแรงจูงใจให้คนที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยากเข้ามาอยู่ในระบบได้ง่ายขึ้นด้วย โดยมีผู้ซื้อ ผู้ขาย ซัพพลายเชน เข้ามาช่วยสนับสนุน ก็จะได้ประโยชน์ทั้งอุตสาหกรรม และลดการรั่วไหลจากปัญหาใบกำกับภาษีปลอม

สำหรับสาเหตุที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเกิดปัญหาการปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจนี้จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อหวังขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าปกติ และมีทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษี แต่เนื่องจากโรงหลอมเหล็กที่เป็นผู้รับซื้อเศษเหล็ก อาจมีใบกำกับภาษีปลอมติดเข้ามาด้วย เมื่อกรมตรวจพบก็จะกลายเป็นคดีโกงภาษีไปด้วย โดยในระยะสั้นจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ในระยะยาวอาจต้องแก้ที่ประมวลรัษฎากร

“เท่าที่ได้หารือกับผู้ประกอบการเหล็ก ส่วนใหญ่เห็นด้วย และพร้อมจะเข้าร่วมเป็นระบบรีเวิร์ส ชาร์จ โดยผู้ซื้อจะรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งให้ทั้งขาซื้อ ขาขาย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาใบกำกับภาษีได้ครบวงจร

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมาย และกำลังดูรายละเอียดเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ดูว่าจะทำเป็นแบบภาคบังคับหรือสมัครใจ หากเปิดให้เลือกเองได้ ใครเข้ามาร่วม กรมก็ถือว่ามีความบริสุทธิ์ใจที่จะเข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ก็จะได้รับการอำนายความสะดวก มากกว่าคนที่ไม่เข้าร่วม ซึ่งอาจจะมีการติดตามมากกว่า โดยหากทำแล้วประสบความสำเร็จ ก็อาจมีการขยายไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นเพื่อแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอมต่อไป”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ