คำเตือนจาก “สภาพัฒน์” ระวัง “จุดอ่อน” เศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คำเตือนจาก “สภาพัฒน์” ระวัง “จุดอ่อน” เศรษฐกิจ

Date Time: 21 ก.พ. 2566 05:54 น.

Summary

  • เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ คุณดนุชา พิชยนันท์ ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าวว่า จากการประมาณการณ์ล่าสุดของสภาพัฒน์ คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.7–3.7 เปอร์เซ็นต์

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ คุณดนุชา พิชยนันท์ ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าวว่า จากการประมาณการณ์ล่าสุดของสภาพัฒน์ คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.7–3.7 เปอร์เซ็นต์ โดยมีค่ากลางที่ 3.2 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าค่ากลางจะเป็น 3.5 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่สภาพัฒน์มองว่าการขยายตัวของเราจะหดลงมาจากที่เคยประเมินไว้ เป็นเพราะการหดตัวลงอย่างชัดเจนของ ภาคส่งออก ซึ่งหดลงไป 1.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 2.98 แสนล้านดอลลาร์ จากแต่เดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1 เปอร์เซ็นต์

ท่านเลขาฯย้ำว่า การส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวอย่างชัดเจนของไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เช่น สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และจีน ที่ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ

ดังนั้น แม้เครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยวจะทำงานได้ค่อนข้างดีดังที่เราเห็นกันอยู่ในขณะนี้ และการขยายตัวด้านการลงทุน ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐจะเพิ่มขึ้น รวมถึงการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้น

แต่รวมๆแล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยจากมุมมองใหม่ของสภาพัฒน์ แม้จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ แต่จะเพิ่มขึ้นแบบลดลงจากที่เคยคิดว่าจะเพิ่มที่ค่ากลาง 3.5 เปอร์เซ็นต์ ก็เหลือเพียง 3.2 เปอร์เซ็นต์ ว่างั้นเถอะ

ถามว่า ผมรู้สึกผิดหวังไหม? จากถ้อยแถลงของท่านเลขาฯสภาพัฒน์ ผมก็คงต้องตอบว่า ผิดหวังหน่อยๆ แต่ไม่ถึงกับจะทำให้เสียใจหรือเสียดายมากนัก

เพราะโดยส่วนตัวผมก็ยังเชื่อว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2566 นี้ จะยังไม่กระเตื้องขึ้นมากจากปีก่อนๆ ฟังจากคำทำนายของนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกไม่ว่าไอเอ็มเอฟ หรือเวิลด์ แบงก์

เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดีการค้าโลกย่อมไม่ดีเป็นเงาตามตัว...ผลกระทบทางด้านการส่งออกของเราในเชิงลบจึงเกิดขึ้น

ก็คงต้องให้กำลังใจกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งรัดการค้าขายในตลาดใหม่ๆมากขึ้น เพื่อให้การส่งออกของเราไม่ทรุดหนักไปมากกว่านี้

ขณะเดียวกัน ก็ขอให้รักษามาตรฐานด้านการท่องเที่ยวเอาไว้ให้ดี อย่าทำอะไรให้กลายเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวที่กำลังเดินหน้าได้เป็นอย่างดีต้องสะดุดไปเสียก็แล้วกัน

ท่านที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวก็จะต้องช่วยกันด้วย อย่าโลภมาก อย่ามูมมาม อย่าเอาเปรียบนักท่องเที่ยวจนเกินเหตุ หรือให้บริการที่ต่ำกว่า มาตรฐานจนทำให้เขาเบื่อระอาว่า ไม่อยากมาประเทศไทย

อย่าลืมว่า เราเป็นชาติแรกๆที่กล้าหาญเปิดประเทศจึงดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้เยอะ...แต่เมื่อทุกประเทศเริ่มเปิดเหมือนกันหมด นักท่องเที่ยวก็จะกระจายตัวไปเที่ยวประเทศอื่นๆด้วย ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น

ดังนั้นแม้เครื่องยนต์ด้านท่องเที่ยวจะทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมอย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องช่วยกันดูแลระมัดระวังอย่าประมาทเป็นอันขาด

ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์แสดงความห่วงใยเอาไว้ ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวว่า จากการที่ประเทศไทยเราเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2566 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่พอสมควร

จะเป็นผลให้การจัดทำงบประมาณใหม่สำหรับปี 2567 ต้องล่าช้าไปจากปฏิทินการจัดทำงบประมาณ และทำให้เงินจากงบประมาณใหม่ออกมาไม่ทัน 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2567

ท่านจึงฝากให้รัฐบาลใหม่ และสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ได้ตระหนักในประเด็นนี้และช่วยเร่งรัดให้ทุกอย่างเป็นไปตามปฏิทินงบประมาณด้วย ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย

ประเด็นนี้ผมก็ห่วงเช่นกัน และห่วงไปถึงว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่ ก็ยังไม่รู้? การเมืองใหม่หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้? เพราะดูจาก รายชื่อผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขณะนี้...ถ้าท่านเหล่านี้บางท่านได้เป็นจริงๆก็น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวายอยู่เหมือนกัน

แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจหรือตีโพยตีพายล่วงหน้าเลยครับ อะไรจะเกิดเดี๋ยวก็รู้? เกิดแล้วก็ต้องสู้กันต่อไป แก้ปัญหากันต่อไป

รับรู้ปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์แจ้งไว้ก็แล้วกัน พร้อมกับหาทางแก้ไขให้ดีที่สุด...เอาน่าถึงจะบวกน้อยลงแต่ก็ยังบวกอยู่นะครับสำหรับเศรษฐกิจไทยเรา ณ นาทีนี้.

“ซูม”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ