ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ยังเคลมไม่เสร็จสิ้น พบลูกค้า 4 บริษัทที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้ยังรอเงิน บอร์ด คปภ. เร่งหาทางแก้ไข คาดถ้าเงินไม่พออาจจะต้องกู้เงิน หรือออกพันธบัตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก 4 บริษัทประกันภัย ได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950, บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด ที่โดนถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ และปิดตัวลงตั้งแต่ปี 65 ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาการจ่ายเงินเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ
ในเวลาต่อมาได้มีการแต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 4 แห่ง รวมทั้งหาเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ หรือผู้เอาประกันภัย โดย ณ วันที่ 15 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้มายื่นคำร้อง 700,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 65,000 ล้านบาท ซึ่งมีความกังวลว่ากองทุนประกันวินาศภัยจะมีเงินเพียงพอ ส่งผลให้การจ่ายเงินล่าช้า ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้รอรับเงินเคลมประกันโควิดอยู่
ในประเด็นดังกล่าว นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ บอร์ด คปภ. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ คปภ.เร่งรัดจัดหาแหล่งเงินมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนประกันวินาศภัย ขณะเดียวกัน ได้เร่งรัดให้กองทุนประกันวินาศภัยจัดทำระบบการจ่ายเคลมประกันโควิดเจอ จ่าย จบ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ขณะนี้ได้ทยอยจ่ายให้กับผู้เอาประกันไปแล้ว 5,000 ราย จากที่ยื่นเข้ามาขอเคลมประกันกว่า 10,000 ราย โดยสาเหตุความล่าช้านั้น เนื่องจากกองทุนประกันวินาศภัยขาดบุคลากรในการดูแลเรื่องนี้
ดังนั้นจึงเร่งรัดให้ดำเนินการด้วยการจ้างเอกชนที่มีความชำนาญที่มีระบบการจ่ายเคลมประกันเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้การจ่ายเคลมประกันได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันพิจารณาจ่ายเงินได้เดือนละ 300 ราย หากปรับและเพิ่มระบบ คาดว่าจะช่วยให้การจ่ายเคลมได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 รายต่อเดือน
ปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยมีเงินกองทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังเพียงพอที่จะจ่ายเคลมประกันโควิด เนื่องจากเป็นการทยอยจ่าย แต่ในอนาคตต้องเพิ่มเงินในกองทุนฯ เพราะไม่เพียงพอต่อการจ่ายเคลมประกันโควิด
ทั้งนี้ เพราะมีผู้ขอเคลมจำนวนมากคิดเป็นวงเงินหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งวิธีการเพิ่มเงินกองทุนนั้นได้มอบหมายให้ คปภ.ไปเร่งดำเนินการ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะการกู้เงินจาก คปภ. กู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือการออกพันธบัตรในอนาคต.