เผยแนวโน้มค่าไฟฟ้าในงวดที่ 2 ของปีนี้ หรือเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ จะเหลือแค่อัตราเดียว เพราะราคาก๊าซธรรมชาติดีขึ้น และมีโอกาสค่าเอฟทีจะลดลง ขณะที่ กพช.ไฟเขียวทบทวนแนวทางเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ใหม่หลังราคาตลาดโลกสูงขึ้น จนผู้นำเข้ารายใหม่แข่งขันกับรายเดิมไม่ได้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวโน้มการคำนวณค่าไฟฟ้างวด 2 หรือเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้จะเป็นอัตราเดียวทั้งภาคครัวเรือนและเอกชน จากที่งวดแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปีนี้ กกพ. พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 อัตรา คือ ครัวเรือนคิดค่าไฟที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น คิดอัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย โดยมาตรการดังกล่าวคงจะไม่มีต่อแล้ว เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ราคาซื้อขายทันที (Spot) ลดต่ำลงมาก เหลือ 15-16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 40-50 เหรียญฯต่อล้านบีทียูเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพราะสภาพอากาศในสหภาพยุโรปไม่ได้หนาวมาก ตามที่ประเมินไว้ ขณะที่ในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูง จะอยู่ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ทำให้สถานการณ์แผนรับมือพลังงาน ฉุกเฉินผ่อนคลายขึ้น แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
“หากราคาแอลเอ็นจียังทรงตัวระดับนี้ มีโอกาสที่จะเห็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. มีแนวโน้มลดลงได้ แต่จะลดลงต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย ตามที่เอกชนเสนอมาหรือไม่ ต้องพยากรณ์จากหลายปัจจัย โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะนำราคาเชื้อเพลิง และปริมาณนำเข้ามาพยากรณ์ต่อไป
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้ทบทวน แนวทางการส่งเสริมการแข่งขัน ในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่ กพช.ได้เคยมีเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก เพื่อให้การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้พลังงาน จึงต้องแก้ปัญหาที่ผู้นำเข้ารายใหม่ ไม่สามารถแข่งขันรายเดิมที่ใช้ราคาตลาดจร (Pool Gas) ได้
ทั้งนี้ จะเริ่มต้นในระบบใหม่เมื่อใด กกพ.จะไปดูช่วงเวลา โดยครั้งนี้เป็นการอนุมัติในหลักการ สนพ.และ กกพ.จะเสนอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาอีกครั้ง แต่หากมีสาระสำคัญเปลี่ยนไปจากที่อนุมัติในครั้งนี้ จะต้องนำเสนอ กพช.อีกครั้ง
ขณะที่นายกุลิศกล่าวเพิ่มเติมว่า กพช.มีมติเห็นชอบแนวทาง บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ในช่วงวิกฤติพลังงาน โดยขอให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ความช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนในเดือน ม.ค. -เม.ย. วงเงินช่วยเหลือ 4,300 ล้านบาท และให้ กฟผ.นำต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงดังกล่าว ไปใช้ในการลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางข้างต้น โดยมอบให้ กกพ.กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป
“กพช.ยังเห็นชอบให้ปรับวงเงินลงทุน โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก จากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของ ปตท. ที่ กพช.ได้อนุมัติไว้จากเดิมวงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็น 13,590 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในส่วนของพื้นที่และวิธีการวางท่อก๊าซธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการปรับเพิ่มสูงขึ้น และ ให้ กกพ.พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุน โครงการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคตไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็น”.