ช้อปดีมีคืน 2566 โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุด 15 ก.พ. ซื้อของอย่าลืมขอใบกำกับภาษี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ช้อปดีมีคืน 2566 โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุด 15 ก.พ. ซื้อของอย่าลืมขอใบกำกับภาษี

Date Time: 1 ก.พ. 2566 08:00 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • โค้งสุดท้าย ช้อปดีมีคืน 2566 สิ้นสุด 15 ก.พ. 65 แนะมนุษย์เงินเดือน ผู้มีรายได้ ซื้อของ ใช้บริการ และเติมน้ำมันอย่าลืมขอใบกำกับภาษีเพื่อไปลดหย่อนภาษีปี 2567

Latest


โค้งสุดท้าย ช้อปดีมีคืน 2566 สิ้นสุด 15 ก.พ. 65 แนะมนุษย์เงินเดือน ผู้มีรายได้ ซื้อของ ใช้บริการ และเติมน้ำมันอย่าลืมขอใบกำกับภาษีเพื่อไปลดหย่อนภาษีปี 2567

เรียกได้ว่าในวันที่ 15 ก.พ. 65 นี้จะสิ้นสุด มาตรการช้อปดีมีคืน 2566 ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า บริการ และการเติมน้ำมัน ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 66 มาลดหย่อนภาษีได้ใน 2566 ที่จะยื่นในช่วง ม.ค. - มี.ค. 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร

- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น

สำหรับความพิเศษของมาตรการช้อปดีมีคืนในปี 2566 นี้ กรมสรรพากรได้ขยายเพิ่มให้นำค่าน้ำมันทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในมาตรการช้อปดีมีคืนได้เป็นครั้งแรก แต่จะต้องมาจากสถานบริการน้ำมัน ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล

สินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาใช้ในมาตรการช้อปดีมีคืนปี 2566

สำหรับมาตรการช้อปดีมีคืนในปี 2566 ยังมีสินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ 10 ประการเช่นเดิม ดังนี้

1. ค่าซื้อสุรา

2. ยาสูบ

3. รถยนต์

4. หนังสือพิมพ์และนิตยสาร

5. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว

6. ค่าที่พักในโรงแรม

7. ค่าสาธารณูปโภค

8. ค่าบริการสัญญาณ

9. ค่าบริการอินเทอร์เน็ต

10. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

ไขข้อสงสัยสินค้าและบริการเหล่านี้ใช้ได้ไหม

มีคำถามจากทางบ้านถามว่า ค่าซื้ออาหารในโรงแรม ค่าซ่อมรถ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ หากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนทองรูปพรรณ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จ ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่านั้น

ขณะที่การลงทุนในกองทุนรวมนั้น สามารถนำค่าธรรมเนียมการขายและค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนไปลดหย่อนภาษีได้

หลักฐานสำหรับใช้สิทธิหักลดหย่อน

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรที่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิหักลดหย่อนหมายถึง ใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

1. คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี

3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี (ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ)

หากเกิดปัญหาการออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขสามารถนำมาเป็นหลักฐานได้หรือไม่นั้น หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วน แม้จะมีการเขียนชื่อ หรือที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้

ขณะที่ผู้ซื้อมีที่อยู่ตามบัตรประชาชนกับที่อยู่ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแตกต่างกันนั้น สามารถใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชน หรือที่อยู่ปัจจุบันก็ได้

กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการหลายครั้ง หรือ มีใบกำกับภาษีหลายใบ สามารถนำมูลค่าการซื้อสินค้าหรือการรับบริการแต่ละครั้งมารวมกันเพื่อใช้สิทธิได้เพื่อให้ถึงตามที่กรมสรรพากรระบุไว้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ