พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2566 มีมติเห็นชอบผลการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ไปจัดทำแผนดำเนินการสำหรับชุดวงโคจร (Package) ที่ขายไม่ออกและนำกลับมาเสนอบอร์ดพิจารณาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 สำนักงาน กสทช.ได้จัดประมูลสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุดทั้งสิ้น 5 ชุดด้วยกัน ปรากฏมีชุดข่ายงานดาวเทียมที่ขายออก 3 ชุด ทำรายได้ 806 ล้านบาท โดยบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลไป 2 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 2 วงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก และชุดที่ 3 วงโคจรที่ 119.5 องศาตะวันออก/120 องศาตะวันออก ขณะที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ประมูลได้ชุดที่ 4 วงโคจรที่ 126 องศาตะวันออก ส่วนอีก 2 ชุดที่ขายไม่ออก ได้แก่ ชุดที่ 1 วงโคจรที่ 50.5 องศาตะวันออก/51 องศาตะวันออก และชุดที่ 5 วงโคจรที่ 142 องศาตะวันออก
พลอากาศโทธนพันธุ์ กล่าวว่า คาดว่าการที่ชุดที่ 1 และ 5 ขายไม่ออกนั้น เป็นเพราะไม่มี ขอบเขตให้บริการในไทย เอกชนจึงไม่สนใจ “หากเป็นไปตามที่ประเมินคือ เมื่อขอบเขตวงโคจรดังกล่าวไม่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในประเทศไทย เอกชนไทยจึงไม่สนใจ แต่การเปิดทางให้เอกชนต่างชาติมาร่วมประมูล ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ และลดราคาลงก็คงไม่ได้เช่นกัน ในที่สุดอาจต้องคืนวงโคจรกลับไปให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งตามกฎหมายเปิดทางไว้ว่าหากการรักษาตำแหน่งวงโคจรเป็นภาระที่เกินจำเป็น ก็คืนกลับไปให้ ITU ได้”
นอกจากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรีสุวรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้เดินทางมายื่นฟ้อง กสทช. บอร์ด ดีอีเอส และ รมว.ดีอีเอส เพื่อให้เพิกถอนการประมูลดาวเทียม โดยศาลปกครองมีคำสั่งนัดไต่สวนฉุกเฉิน 19 ม.ค.นี้ เวลา 13.00 น.