นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ราคาพลังงานที่ทรงตัว ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น เป็นการเร่งอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง คาดว่าราคาพลังงานจะมีผลกระทบในระยะยาว จึงมอบให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม พบว่าการขึ้นค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม 4.88% อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เหล็ก รองลงมา ได้แก่ ซีเมนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เครื่องแต่งกาย เซรามิก
“สศอ. ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ โดยใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าการขึ้นค่าไฟฟ้า 5.33 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กเพิ่มขึ้น 12.41% อุตสาหกรรมซีเมนต์เพิ่มขึ้น 9.47% สิ่งทอเพิ่มขึ้น 8.96% เครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้น 7.98% เซรามิกเพิ่มขึ้น 6.49%”
ดังนั้น เมื่อพิจารณาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยใช้ข้อมูลดัชนีการส่งสินค้ารายเดือน (Shipment Index) ในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา พบว่า เหล็กและสิ่งทอมีอัตราการขยายตัวของดัชนีการส่งสินค้าในแต่ละเดือนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
“การลดผลกระทบ ผู้ประกอบการต้องหาแหล่งพลังงานทดแทน การนำเข้าพลังงาน ได้แก่ การพึ่งพาพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น รวมถึงต้องหามาตรการใช้พลังงานในสถานประกอบการอย่างประหยัด ด้วยการวางแผนการใช้งานพื้นที่ให้เหมาะสมกับการจัดเก็บ เช่น การใช้แสงจากธรรมชาติการใช้ไฟฟ้าแอลอีดี เปิด-ปิดอัตโนมัติด้วยระบบเซ็นเซอร์”.