บีโอไอไม่หวั่นเศรษฐกิจโลกถดถอย แห่ลงทุนไทยสูงสุดหลังโควิด ปี 2565 พุ่งกว่า 6.6 แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บีโอไอไม่หวั่นเศรษฐกิจโลกถดถอย แห่ลงทุนไทยสูงสุดหลังโควิด ปี 2565 พุ่งกว่า 6.6 แสนล้าน

Date Time: 14 ม.ค. 2566 05:45 น.

Summary

  • ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% นับว่าเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด

นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุด มีแนวโน้มที่ดีในปี 2565 มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เป็นสัญญาณที่ดีว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น

สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในปี 2565 มีเงินลงทุน 468,668 ล้านบาท คิดเป็น 71% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริม ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า 129,475 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 105,371 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 81,731 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 59,762 ล้านบาท และอุตสาหกรรมดิจิทัล 49,458 ล้านบาท อีกทั้งมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV, PHEV และ Hybrid มูลค่า 53,000 ล้านบาท (ผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น บีวายดี และฮอริษอน พลัส) กิจการ Data Center 42,000 ล้านบาท (ผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) และกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. 18,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังพบว่ายอดขอลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 637 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 358,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 433,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% สูงสุดคือ จีน 77,381 ล้านบาท ญี่ปุ่น 50,767 ล้านบาท สหรัฐฯ 50,296 ล้านบาท ไต้หวัน 45,215 ล้านบาท และสิงคโปร์ 44,286 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการลงทุนปี 2566 ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่าไทยจะรักษาระดับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 500,000-600,000 ล้านบาท เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตที่แข็งแกร่งไม่อยู่ในความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ทำให้เป็นที่สนใจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า BCG พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 15,784 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ของบริษัท บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด 3,893 ล้านบาท โครงการผลิต Carbon Black ของบริษัท ไทยโตไกคาร์บอนโปรดักท์ จำกัด 9,490 ล้านบาท และโครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) 2,401 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ