"กระทรวงแรงงาน" เร่งขับเคลื่อนโครงการ 3 ม. เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมมุ่งเน้นให้ประชาชนมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง
วันที่ 7 ม.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยถึงความคืบหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการว่า ตามที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว กระทรวงแรงงานเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการฟื้นฟูประเทศรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้จัดหางานทุกจังหวัดนำโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) มาประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนระดับ ม.6 ปวช. ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับทราบและเข้าร่วม โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ได้บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความมั่นคงในชีวิตได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ต้องการ เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น โดยได้รับบริการส่งเสริมสนับสนุนให้ทำงานในสถานประกอบการ ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมาย
ซึ่งโครงการนี้ได้นำร่องที่จังหวัดชลบุรีไปแล้ว โดยได้ร่วมมือกับ ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยภาคตะวันออก (อี.เทค) จังหวัดชลบุรี เพื่อให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์กับวิทยาลัยอีเทค และทำงานไปด้วย สามารถมีรายได้ มีทักษะ มีวุฒิเพิ่ม ซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จึงได้นำโครงการนี้มาขยายผลต่อไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ภูเก็ต ระยอง กระบี่ พังงา เชียงใหม่ เชียงราย และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการ
สำหรับโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) นี้จะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้งานทำ มีรายได้ มีวุฒิเพิ่ม ขณะเดียวกันสถานประกอบการเองก็จะมีกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ และได้แรงงานที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ด้านสถานศึกษาเองสามารถกำหนดหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสม และตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ กระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ จึงเชิญชวนสถาบันการศึกษา ร่วมโครงการ 3 ม. เพื่อส่งนักเรียน นักศึกษา มาทำงานแบบ On the Job Training ในจังหวัดที่มีธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มทักษะ สร้างรายได้ ระหว่างศึกษา ร่วมกับการสนับสนุนการทำงานแบบรับรายได้เป็นรายชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป.