โควิดผ่านไป...ฝากอะไรไว้กับเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โควิดผ่านไป...ฝากอะไรไว้กับเศรษฐกิจ

Date Time: 7 ม.ค. 2566 07:22 น.

Summary

  • วิกฤติทุกครั้งมักสร้างความเสียหายระยะยาวต่อเศรษฐกิจ วิกฤติโควิดพิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะโดนกันทั่วโลก กิจกรรมผลิตและบริการแต่ละประเทศถูกกระทบถ้วนหน้า ธุรกิจและแรงงานจำนวนมากต้องปรับตัว

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

บางขุนพรหมชวนคิดขอสวัสดีปีใหม่ให้ผู้อ่านประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ ความสมหวังตลอดปีใหม่นี้ค่ะ น่าดีใจที่ตอนนี้โลกกลับมาอยู่ร่วมกับโควิดได้แล้ว จึงอยากชวนคิดว่า โควิดผ่านไป ฝากอะไรไว้กับเศรษฐกิจบ้าง?

วิกฤติทุกครั้งมักสร้างความเสียหายระยะยาวต่อเศรษฐกิจ วิกฤติโควิดพิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะโดนกันทั่วโลก กิจกรรมผลิตและบริการแต่ละประเทศถูกกระทบถ้วนหน้า ธุรกิจและแรงงานจำนวนมากต้องปรับตัวให้อยู่รอด แม้วิกฤติโควิดจะมีส่วนเร่งให้ผลิตภาพประเทศเพิ่มขึ้นผ่านการหาจุดสมดุลใหม่ (re-optimization) ของกระบวนการทำงานและโมเดลธุรกิจ เช่น ทำงานออนไลน์ ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มการตลาดและวางระบบติดตามขั้นตอนห่วงโซ่อุปทานแบบเรียลไทม์ แต่วิกฤติโควิดก็มีส่วนทำให้ผลิตภาพประเทศลดลงผ่านหลายช่องทางได้ด้วย ตัวอย่างเช่น

ทักษะแรงงานทิ้งร้าง วิกฤติโควิดลากยาว 2-3 ปีทำให้หลายบริษัทต้องปิดตัวหรือลดคนงาน แรงงานต้องออกจากงาน ทักษะแรงงานความชำนาญเฉพาะที่มีไม่ได้ใช้ การกลับเข้าตลาดแรงงานก็อาจไม่ง่าย หากไม่ได้ลับทักษะเดิมให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน บางคนอาจยอมเปลี่ยนไปทำงานอื่นแม้รายได้ไม่มากเท่าเดิม วิกฤติโควิดจึงฝากผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดแรงงานและลดผลิตภาพแรงงานในภาพรวมได้

ความกลัวขาดสภาพคล่อง วิกฤติโควิดเกิดขึ้นเกินคาดเดา ธุรกิจที่เอาตัวรอดมาได้ หากจะเตรียมวางแผนขยายการลงทุนข้างหน้า ก็ต้องเผื่อเจอเหตุการณ์รุนแรงแต่โอกาสเกิดไม่มากแบบนี้ไว้ เพราะเรื่องนี้อาจทำให้ธุรกิจฝังใจว่า ต้องกันเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่องเผื่อใช้ตอนฉุกเฉินเหมือนที่ทำมาในช่วงวิกฤติโควิด ทำให้ภาพรวมเงินออมประเทศน่าจะยังสูงกว่าเทรนด์เดิมอีกระยะ มองอีกด้านก็คือ ภาพรวมการลงทุนประเทศจะต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น กระทบการลงทุนเพื่อสะสมปัจจัยทุนที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพประเทศ

ประสิทธิภาพการจัดสรรเงินทุนลดลง ทุกประเทศเร่งออกมาตรการภาครัฐช่วยประคองธุรกิจที่เกือบล้มตลอดช่วงโควิด เช่น พักหนี้ ลดหนี้ให้สินเชื่อหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ ช่วยรักษาสถานะธุรกิจไม่ให้เป็นหนี้เสีย มาตรการพวกนี้ช่วยบริษัทที่ยังมีศักยภาพแต่ล้มลงชั่วคราวให้ยังยืนสู้ต่อได้ แต่มาตรการเหล่านี้ก็ช่วยต่อลมหายใจให้บริษัทซอมบี้อยู่รอดได้เช่นกัน ทั้งที่ไม่ค่อยมีศักยภาพทำกำไรแล้ว วิกฤติโควิดจึงมีส่วนทำให้เงินทุนในประเทศไม่ได้รับการจัดสรรไปสู่ธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจได้เต็มที่

หนี้สูงฉุดรั้งศักยภาพ ประเทศส่วนใหญ่ออกจากวิกฤติโควิดพร้อมหนี้สินติดตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้ภาคครัวเรือน ภาครัฐมีหนี้สูงจะเหลือพื้นที่การคลังไม่มากภายใต้เพดานความยั่งยืนการคลัง ต้องจัดสรรงบที่มีจำกัดไปลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศให้มากขึ้นธุรกิจมีหนี้สูงผิดนัดชำระจะมีข้อจำกัดเข้าถึงสินเชื่อเพื่อลงทุนใหม่ ครัวเรือนหนี้สูงจะมีภาระหนี้ต้องเคลียร์ต้องลดใช้จ่ายลงและไม่พร้อมลงทุนเพิ่มทักษะเพื่ออนาคตมากนัก

ถึงโควิดจะผ่านไป นโยบายเศรษฐกิจด้านอุปสงค์และอุปทานยิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่เร่งฟื้นเศรษฐกิจให้กลับไปแตะเทรนด์เดิม แต่ยังต้องเร่งนโยบายลดแผลเป็นโควิดบนศักยภาพเศรษฐกิจด้วย เช่น ยกระดับทักษะแรงงาน จัดสรรเงินทุนให้ถึงธุรกิจทุกขนาดที่ยังมีศักยภาพ แก้ปัญหาหนี้

ปีใหม่นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้แรงงานและธุรกิจตั้งหลักหันมาปรับกลยุทธ์เพิ่มผลิตภาพตนเอง ร่วมกับนโยบายภาครัฐแก้แผลเป็นโควิด ทุกฝ่ายจะช่วยให้ประเทศรอดวิกฤติมี Long COVID ติดไปไม่มากได้ค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ