สำนักงานสลากฯ เผย "สลากดิจิทัล" ผลตอบรับดี งวด 17/1/66 เตรียมเพิ่มเป็น 17.129 ล้านฉบับ พร้อมโอนเงินรางวัลเข้าทุกบัญชีภายใน 2 ชั่วโมง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เผยว่า ตั้งแต่ ปี 2558 เป็นต้นมา การแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา มีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการระดมมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน โดยมีโรดแมปการดำเนินงาน 3 ระยะ โดยในระยะแรก เป็นการจัดระเบียบและการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีการปรับระบบการจัดสรรสลากตัวแทนรายย่อยให้เหลือรายละ 5 เล่ม เท่ากันหมดทุกคน โดยให้เฉพาะนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรและองค์กรการกุศล และองค์กรคนพิการเท่านั้น มีการปรับสัดส่วนเพิ่มกำไรให้กับตัวแทนจำหน่าย
โดยเพิ่มส่วนลดให้จากเดิม 7% ได้กำไรฉบับละ 5.60 บาท ปรับเป็น 12% ได้กำไร ฉบับละ 9.60 บาท เพื่อให้ตัวแทนรายย่อยมีกำไรมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงรางวัลสลาก โดยปรับรางวัลเลยท้าย 3 ตัว จากเดิม 4 รางวัล เปลี่ยนเป็นรางวัลเลขท้าย 3 ตัว 2 รางวัล และรางวัลเลขหน้า 3 ตัว 2 รางวัล เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสลากฯ เลขไม่สวย ขายไม่หมด เพิ่มปริมาณสลากต่องวดให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อลดปัญหาเกินราคา
นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง เพื่อตรวจสอบการจำหน่ายสลาก และมีการใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับใช้ ในกรณีที่ตัวแทนจำหน่ายและผู้ซื้อจองล่วงหน้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาและเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสลากเกินราคา มีการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย รวมถึงการไม่จำหน่ายสลากปลีกด้วยตนเอง แต่นำไปขายต่อให้แพลตฟอร์มเอกชนต่างๆ จะถูกยกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายและยกเลิกการเป็นผู้ซื้อจองล่วงหน้า โดยในปี 2565 ได้ถูกยกเลิกสัญญาไปแล้ว 23,689 ราย
สำหรับการดำเนินการตามโรดแมป ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการปรับแผนและทิศทางการจำหน่ายสลากนั้น สำนักงานฯ ได้พัฒนาระบบจำหน่ายสลากฯ โดยจัดให้มีโครงการซื้อ-จอง ล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านธนาคารกรุงไทย ควบคู่ไปกับระบบจำหน่ายผ่านตัวแทนระบบเดิม ทำให้สามารถมีสลากฯ กระจายไปทั่วประเทศ ผู้ค้าสลากฯ เข้าถึงสลากฯ ได้ในราคาทุนโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ปัจจุบันมีสลากในระบบซื้อจองล่วงหน้า 50% ของปริมาณสลากทั้งหมดที่พิมพ์ออกจำหน่าย
นอกจากนี้ สำนักงานฯ ได้ดำเนินการจำหน่ายสลากดิจิทัล ผ่านแอปเป๋าตัง ผ่านมาแล้วรวม 13 งวด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีการปรับตัวทำให้การจำหน่ายสลากดิจิทัล มีความคล่องตัว ประกอบกับเมื่อถูกรางวัลสามารถเลือกรับเงินรางวัลผ่านการโอนเข้าบัญชีของทุกธนาคารได้ภายใน 2 ชั่วโมง นับเป็นการขึ้นเงินรางวัลที่สะดวก ง่าย ไม่ยุ่งยาก ทำให้กระแสตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ ได้มีการเพิ่มปริมาณสลาก โดยในงวด 17 ม.ค. 2566 จะมีปริมาณสลาก 17,129,000 ใบ เป็นสลากของตัวแทนจำหน่าย 34,258 ราย
ทั้งนี้ ปริมาณสลากเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 901,500 ใบ สำนักงานฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มปริมาณสลากดิจิทัล เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อรวมกับจุดจำหน่ายสลาก 80 ซึ่งเป็นสลากใบ ที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอีก 1,047 จุด จำนวนสลากประมาณเกือบสามล้านฉบับ ทำให้ขณะนี้ มีสลากที่จำหน่ายในราคาไม่เกิน 80 บาท ตามราคาที่กำหนดอย่างน้อย 19.5 ล้านฉบับ คิดเป็นเกือบร้อยละ 20 ของปริมาณสลากทั้งหมด 100 ล้านฉบับที่สำนักงานพิมพ์ออกจำหน่าย ทำให้ผู้ซื้อสลากมีทางเลือกในการซื้อสลากในราคา 80 บาท ได้อย่างสะดวก รวดเร็วและกว้างขวาง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้คือ แอปเป๋าตัง และจุดจำหน่ายสลาก 80 บาท โดยสำนักงานฯ สามารถเพิ่มปริมาณสลากได้ตามความต้องการจริงของสังคม
สำหรับการดำเนินการตามโรดแมประยะที่ 3 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมนั้น สำนักงานฯ อยู่ระหว่างดำเนินการออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ ขณะนี้ ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการออกสลากแบบ N3 และ L6 โดยเฉพาะ N3 จะเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในการซื้อสลากได้ในราคาตามกฎหมายเพิ่มเติมจากที่สามารถซื้อได้ในระบบสลากดิจิทัลและจุดจำหน่ายสลาก 80 บาท ซึ่งสำนักงานฯ สามารถเพิ่มได้ตามความต้องการของประชาชนอีกทางหนึ่ง และนำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ สำนักงานฯ สามารถดำเนินการได้ทันที
พันโทหนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงการตรวจสอบการจำหน่ายสลากของตัวแทนจำหน่ายและผู้ซื้อ-จองฯ ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำสลากไปจำหน่ายต่อให้กับแพลตฟอร์มเอกชนต่างๆ หรือไม่ได้จำหน่ายด้วยตนเอง ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบสลากที่ถูกรางวัลจากการที่นำสลากนั้นมาขึ้นเงินรางวัล หากพบว่าเป็นสลากของตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ซื้อจองรายใด จะใช้มาตรการเด็ดขาดในการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มข้นในการลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายสลาก รวมถึงการเบิกสลากที่ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจำหน่ายสลากของสมาคม องค์กร ให้เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการกับแพลตฟอร์มเอกชนที่จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนด ไม่ว่าจะรวมค่าบริการเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม สำนักงานฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ สำนักงานฯ ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานขายสลากเกินราคา ปัจจุบันศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายฯ (ปิดเว็บไซต์) ไปแล้ว 12 แพลตฟอร์ม กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอุทธรณ์ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2 แพลตฟอร์ม และอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล จำนวน 1 ราย ในขณะเดียวกันสำนักงานฯ ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องทุกงวด.