ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) กกพ.จะประชุมทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ประเภทอื่นๆ ได้แก่ โรงงาน อุตสาหกรรม สถานบริการ และอื่นๆตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ คาดว่าบอร์ด กกพ.ปรับลดค่าเอฟทีได้ 40 สตางค์ (สต.) จากเดิมต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตรา 190.44 สต.ต่อหน่วย หรือค่าไฟเฉลี่ยรวมเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็น 20 สต.ต่อหน่วย แรกมาจากการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้งค่าน้ำมันดีเซลที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลืออีก 20 สต.ต่อหน่วย รอตัวเลขการจ่ายหนี้สะสมของ กฟผ.จากเดิมต้องจ่ายให้ กฟผ. 33 สต.ต่อหน่วย ว่า กฟผ.จะลดเงินรับคืนได้เท่าไร เช่น รับคืนก่อนครึ่งหนึ่ง หรือ 16-20 สต. รวมแล้วก็จะลดได้อีก 40 สต.
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่กระทรวงพลังงานชี้แจงออกมา เช่น ให้เอกชนบางส่วนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ให้เปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตา และดีเซล แทนเป็นการชั่วคราว หรือการโยนภาระให้ ปตท.และ กฟผ.ตลอดเวลา โดยมองว่าแนวทางของกระทรวงพลังงาน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้น ส.อ.ท.จึงยืนยันให้แก้ที่ต้นเหตุตาม 5 ข้อที่ กกร.เสนอ เช่น ค่าความพร้อมจ่ายหรือเอพีของโรงไฟฟ้าเอกชนควรจะปรับตัวลงบ้างหรือไม่ ไม่พูดถึงประเด็นนี้เลย ทั้งๆที่ภาครัฐมีเครื่องมือ ทั้งนโยบายกฎหมายและการกำกับดูแล กลับเลือกสั่งแต่ กฟผ. เพราะอยู่ภายใต้กำกับ จนไม่สามารถแบกรับภาระไหวแล้ว.