นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือน พ.ย.65 การส่งออกมีมูลค่า 22,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 6% เทียบกับเดือน พ.ย.64 เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือน ต.ค.65 ที่ติดลบ 4.4% ด้วยมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญฯ เมื่อคิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 846,191 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% ส่วนการนำเข้ามูลค่า 23,650.3 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 5.6% กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากเดือน ต.ค.65 ที่ติดลบ 2.1% คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 907,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,342.3 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล 60,952 ล้านบาท
“มูลค่าส่งออกช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 65 อยู่ที่ 265,349.1 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 7.6% เทียบช่วงเดียวกันปี 64 เมื่อคิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 9.167 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.4% การนำเข้า 280,438 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 16.3% คิดเป็นเงินบาท 9.823 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% ขาดดุลการค้า 15,088.9 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล 655,879 ล้านบาท โดยแม้เดือน พ.ย.65 มูลค่าส่งออกติดลบ 6% แต่ยังสูงกว่ามูลค่าส่งออกเดือน ต.ค.65 อยู่ถึงประมาณ 45,000 ล้านบาท และสร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึง 846,190 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 66 ขณะนี้ยังไม่ได้ตัวเลขที่เป็นข้อสรุปสุดท้าย ต้องรอดูตัวเลขของเดือน ธ.ค.นี้ก่อน”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำหรับปีหน้ายังคงเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และอาจกระทบต่อกำลังซื้อของทั่วโลก ขณะที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อและทำให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันต่อค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความขัดแย้งของจีน-สหรัฐฯ จีน-ไต้หวัน ที่ทำให้เห็นว่าการแบ่งขั้ว แบ่งข้างในโลกยังมีอยู่ และอาจนำมาซึ่งการกีดกันการค้า ซึ่งผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือในอนาคต
สำหรับกรณีที่จีนประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 และผ่อนคลายมาตรการซีโร่ โควิด นายจุรินทร์กล่าวว่า จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เพราะจะมีความสะดวก คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ที่คาดว่าจะส่งออกได้มากขึ้น.