เชื่อ...คิด...ทำ...

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เชื่อ...คิด...ทำ...

Date Time: 24 ธ.ค. 2565 05:30 น.

Summary

  • ในวาระที่บทความเผยแพร่ในวันคริสต์มาสอีฟ ขอกล่าวสวัสดีและอาราธนาพรอันประเสริฐจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละท่านเคารพนับถือโปรดดลบันดาลให้เรื่องร้ายผ่านพ้น ศานติสุขเกิดทุกแห่งหน

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%


ดร.นครินทร์ อมเรศ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวาระที่บทความเผยแพร่ในวันคริสต์มาสอีฟ ขอกล่าวสวัสดีและอาราธนาพรอันประเสริฐจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละท่านเคารพนับถือโปรดดลบันดาลให้เรื่องร้ายผ่านพ้น ศานติสุขเกิดทุกแห่งหน พลโลกร่วมใจพัฒนายั่งยืน สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ

ผู้เขียนได้รับประสบการณ์พิเศษ ภายใต้การสนับสนุนของพี่เอก SCB Academy ซึ่งต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ ให้เข้าร่วมงานเสวนา MIT Media Lab Southeast Asia Forum ที่ True Digital Park โดยมีธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย (KBTG) เป็นเจ้าภาพและได้ระดมศิษย์เก่าของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (MIT) มาร่วมงานอย่างคับคั่ง สะท้อนศักยภาพของประเทศในการเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรและต่อยอดธุรกิจอย่างครบวงจรทั้งในภาควิชาการ การเงิน การผลิต และการค้า ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่อายุไม่มาก แต่งกาย smart casual ใส่สูทสีอ่อน ไม่ผูกเนกไท ภาพประทับใจที่พบไปทั่วงาน คือ คนดังหน้าคุ้นถกความคิดและสร้างเครือข่ายธุรกิจกับดาวรุ่งดวงใหม่

โดยส่วนตัวแล้ว MIT Media Lab เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง Research Joint Venture Formation ที่ศึกษากระบวนการสร้างและรักษาความร่วมมือในการนำงานวิจัยไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ซึ่งในฐานะหนอนหนังสือได้หยิบยกกรณีศึกษา เครื่องอ่านหนังสือดิจิทัล หรือ eReader ที่ใช้เทคโนโลยี E-Ink ซึ่งถือกำเนิดในปี 1997 จากการทำงานของนักศึกษาปริญญาตรี MIT สองท่านและอาจารย์ที่ MIT Media Lab

โดยเริ่มใช้ในเครื่อง eReader ของ Sony ปี 2004 ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างในชื่อ Kindle ของ Amazon ปี 2007 ซึ่งในปัจจุบันนี้ E-Ink ไม่เพียงมีคุณสมบัติในการแสดงผลเหมือนกระดาษ ใช้พลังงานน้อยมาก แต่เพิ่มเติมสีสันจากเดิมที่เป็นขาวดำ และต่อยอดเป็นฟิล์มทำให้รถต้นแบบ BMW iX Flow Concept สามารถเปลี่ยนสีผ่านสัมผัสปลายนิ้ว ซึ่งจัดแสดงในงาน CES 2022 ปีนี้

การรับฟังเจ้าของ Media Lab ตัวเป็นๆมาเล่าผลงานวิชาการที่ไปไกลถึงระดับสร้างชุดนักบินอวกาศไปดาวอังคาร ในรูปแบบการเล่าที่ย่นย่อ เข้าถึงง่าย และนำไปต่อยอดได้ไม่ยาก ทำให้ถอดบทเรียนกระบวนการสร้างนวัตกรรมออกเป็นคำสามคำ คือ เชื่อ คิด และทำ

เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามและความสนใจใคร่รู้ เชื่อว่าเป็นไปได้ ซึ่งผู้เขียนยังจำได้ว่าในวันที่นำหัวข้อวิทยานิพนธ์นี้ไปเสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษา ท่านถามกลับว่าจะสนุกกับหัวข้อนี้ได้นานแค่ไหน ถ้าทำไปแล้วไม่คืบหน้าจะท้อถอยหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนตอบไปทันทีในวันนั้นและจวบจนวันนี้ความรู้สึกก็ยังไม่เปลี่ยน คือ ยังมีฉันทะสุดหัวใจที่อยากจะทราบเคล็ดลับในการสร้างความร่วมมือจนทำให้นวัตกรรมเกิดประโยชน์จริง

เมื่อเชื่อแล้วก็ต้องคิด ไม่ใช่แค่คิดไปเอง แต่ต้องอาศัยระเบียบวิธีวิจัยซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลายและเข้าถึงได้ง่ายในยุคปัจจุบันเพื่อไตร่ตรองมองทะลุกรอบชุดความคิดเดิมๆ ทบทวนจากการศึกษา ผลสำเร็จและข้อผิดพลาดและใคร่ครวญซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งในทางทฤษฎีและการค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งเมื่อย้อนคิดแล้วพบว่าความรู้ที่ผู้เขียนได้จากภาคทฤษฎีในมหาวิทยาลัย เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างทำงานในภาครัฐ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกื้อหนุนให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินการ หรือ execute ในภาคเอกชนต่อไป

ขั้นตอนลงมือทำย่อมสำคัญที่สุด ดังกระแสพระราชดำรัส “โภคะทั้งหลาย มิได้...สำเร็จ ด้วยเพียงคิดเท่านั้น” กระบวนการสร้างความเชื่อมโยงและร่วมมือให้เกิดผลเป็นหัวใจหลัก ซึ่งการศึกษาของวิทยานิพนธ์ผู้เขียนพบว่าแม้กระทั่งความร่วมมือที่ล้มเหลวต้องมีอันแยกย้ายจากกันก็เป็นขั้นตอนสำคัญในการสนับสนุนให้นวัตกรรมถูกแปรรูปสร้างมูลค่า จนกลายเป็นคุณูปการให้กับนวัตกรเองและโลกในที่สุด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ