ศาลยกคําร้องสภาผู้บริโภค เปิดทางทรู-ดีแทคเดินหน้ารวมกิจการ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ศาลยกคําร้องสภาผู้บริโภค เปิดทางทรู-ดีแทคเดินหน้ารวมกิจการ

Date Time: 12 ธ.ค. 2565 06:10 น.

Summary

  • ศาลปกครองยกคำร้องสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ขอคุ้มครองชั่วคราวหวังเบรกกระบวนการควบรวมทรู-ดีแทค คำวินิจฉัยระบุมติ “รับทราบ” การควบรวมของ กสทช.เป็นไปตามกฎหมาย ส่งผลให้ ทรู-ดีแทคเดินหน้าควบรวมต่อ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ศาลปกครองยกคำร้องสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ขอคุ้มครองชั่วคราวหวังเบรกกระบวนการควบรวมทรู-ดีแทค คำวินิจฉัยระบุมติ “รับทราบ” การควบรวมของ กสทช.เป็นไปตามกฎหมาย ส่งผลให้ ทรู-ดีแทคเดินหน้าควบรวมต่อไปได้ ขณะที่คดีฟ้องร้องหลักทั้งจากสภาผู้บริโภคและเอไอเอส ยังอยู่ในกระบวนการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2565 ศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัย คำร้องของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับกระบวนการควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โดยศาลได้ยกคำร้องของสภาองค์กรของผู้บริโภค ทำให้แผน การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคยังคงเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ถูก ฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค โดยศาลให้ มีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2565 วันต่อมา 11 พ.ย.2565 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส ก็ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช.ต่อศาลปกครองเช่นกัน เนื่องจากได้รับความเสียหายจากมติ “รับทราบ” การควบรวมกิจการดังกล่าว

แต่สำหรับสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น ยังได้ยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉิน ให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เพื่อระงับกระบวนการควบรวมเอาไว้ก่อน ซึ่งในกรณีนี้ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2565 ดังกล่าวข้างต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลวินิจฉัยได้พิจารณาถึงอำนาจการมีมติของคณะกรรมการ กสทช.ที่รับทราบการรวมธุรกิจทรู-ดีแทค โดยเห็นชอบ และกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะนั้น ไม่มีเหตุจะรับฟังได้ว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง จึงมีคำสั่งยกคำขอ กรณีดังกล่าวเหมือนกับตอนที่สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้คุ้มครองชั่วคราวหยุดยั้งกระบวนการเข้าซื้อกิจการโลตัสของกลุ่มซีพี เพราะมองเป็นการผูกขาดวงการค้าปลีกไทย และศาลมีคำสั่งยกฟ้องเช่นกัน ขณะที่ คดีหลักยังอยู่ในการพิจารณาของศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้วินิจฉัยใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การลงมติชี้ขาดของประธาน กสทช. เพิ่มอีกเสียงหนึ่ง หลังที่ประชุมมีคะแนน เสียงเท่ากัน 2 ต่อ 2 นั้น เป็นอำนาจโดยชอบด้วย กฎหมาย การออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งของประธาน กสทช. จึงไม่ได้ขัดต่อระเบียบการประชุม

2.จากประกาศที่เกี่ยวข้องของ กสทช.และรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะ กรรมการในกฎหมายเฉพาะที่จำเป็น การที่ กสทช. มีมติรับทราบโดยกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจโทรคมนาคม จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในชั้นนี้ ยังไม่มีเหตุความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3.ศาลวินิจฉัยถึงผลกระทบของการรวมธุรกิจ ว่า กสทช.มีมติรับทราบและกำหนดมาตรการให้ปฏิบัติตาม รวมทั้งกลไกติดตามและประเมินผลการ รวมธุรกิจไว้ชัดเจน หากมีผลกระทบ กสทช.มีอำนาจ ระงับการกระทำได้

4.คำขอห้าม หรือระงับการกระทำ นิติกรรมที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษานั้น ศาลวินิจฉัยว่า หน่วยงานรัฐดังกล่าว ไม่ได้เป็นคู่กรณี ในคดีนี้ จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจรับไว้พิจารณาได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ