วอน “กพท.” ช่วยแก้ไขด่วน สายการบินระส่ำหนักขาดสภาพคล่อง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

วอน “กพท.” ช่วยแก้ไขด่วน สายการบินระส่ำหนักขาดสภาพคล่อง

Date Time: 6 ธ.ค. 2565 06:10 น.

Summary

  • สมาคมสายการบินประเทศไทย ร้องขอความเป็นธรรม เหตุภาครัฐไม่เอื้ออำนวยความสะดวก ในการปลดระวางเครื่องบิน หลังเสนอแผนธุรกิจการบินมายัง กพท.ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์การบินซบเซา

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

สมาคมสายการบินประเทศไทย ร้องขอความเป็นธรรม เหตุภาครัฐไม่เอื้ออำนวยความสะดวก ในการปลดระวางเครื่องบิน หลังเสนอแผนธุรกิจการบินมายัง กพท.ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์การบินซบเซา จนถึงขณะนี้อุตสาหกรรมการบินกลับมาเติบโต ส่งผลค่าใช้จ่ายการดูแลเครื่องบินพุ่งทะลัก จนขาดสภาพคล่อง เหตุขายเครื่องบิน หรือ ปลดระวางแล้ว แต่ไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ที่ประกอบด้วย 7 สายการบินในประเทศ ร่วมกันเป็นสมาชิก เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับร้องเรียนจากสายการบินสมาชิกหลายๆสายการบินว่า ประสบปัญหาในการดำเนินการธุรกิจ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ช่วงสถานกรณ์โควิด-19 ทำให้ประกอบการเที่ยวบินไม่ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งทำการบินได้น้อยลง หลายๆสายการบินได้ทำแผนปลดระวางเครื่องบิน ที่จะประจำฝูงบินออก ทั้งการขายและคืนเครื่องรวมกว่า 20 ลำ แต่ติดปัญหาเมื่อทำเอกสารรายละเอียดแผนมายังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

“ปัญหาดังกล่าว ทำให้สายการบินประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทันที เนื่องจากเครื่องบินบางสายการบินได้ขายเครื่องไปแล้ว แต่ไม่สามารถส่งเครื่องบินให้กับผู้ซื้อได้ ขณะเดียวกัน เครื่องบินที่จอดเพื่อรอการจำหน่าย หรือคืน ก็ต้องเสียค่าบำรุงรักษา ค่าจอดหลายล้านบาท ต่อเดือน เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการจัดทำแผนธุรกิจ เนื่องจากระยะเวลาเสนอแผนรายละเอียดมายังหน่วยงานรัฐทั้ง กพท., คณะกรรมการ การบินพลเรือน (กบร.) ที่มี รมว.คมนาคมเป็นประธานเพื่อพิจารณาเห็นชอบใช้เวลานานในการพิจารณา ทำให้ไม่สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่เสนอไปแล้ว ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่คณะกรรมการกลั่นกรองแผนธุรกิจ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กบร. หมดวาระ ทำให้ไม่มีการพิจารณาอนุมัติ

ล่าสุด สายการบินที่เป็นสมาชิกของสมาคม ยังได้มีการรวบรวมปัญหาในประเด็นที่หน่วยงานรัฐทำงานล่าช้า โดยเฉพาะ กพท. ทำงานไม่สอดคล้อง กับสถานการณ์การบิน ในปัจจุบัน อาทิ เรื่อง การออก ใบอนุญาต special permit ในการนำเครื่องออกไป เข้าศูนย์ซ่อมในต่างประเทศที่ใช้ระยะเวลานาน ทำให้สายการบินเกิดค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการบริหารเครื่องบิน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ค่าธรรมเนียมการต่อและออกใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น

นายสุทธิพงษ์ คงพลู ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว กพท. รับทราบและไม่นิ่งนอนใจ เพราะเข้าใจผู้ประกอบการ เนื่องจากขณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะการปลดระวางเครื่องบิน บางสายการบินก็เสนอขอปรับเครื่องบินเข้ามาประจำฝูงบิน เนื่องจากสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินกลับมาดีขึ้น ขอชี้แจงว่าการดำเนินการในรายละเอียดของการปลดระวางเครื่องบินของสายการบิน มีระเบียบขั้นตอนตามกฎหมายดำเนินการอยู่ ซึ่ง กพท. ก็จะพิจารณาตามขั้นตอน ระเบียบข้อบังคับ โดยสาเหตุที่ล่าช้าส่วนมากเกิดจากสายการบิน ไม่มีการจัดทำแผนธุรกิจให้ชัดเจน เป็นต้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่เคยพิจารณาล่าช้า แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าว ตนยังไม่เห็นรายละเอียด คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณากันอยู่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ