ตลาดการเงินทำงานไม่ปกติ...อีกความเสี่ยงที่น่าจับตา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตลาดการเงินทำงานไม่ปกติ...อีกความเสี่ยงที่น่าจับตา

Date Time: 3 ธ.ค. 2565 05:30 น.

Summary

  • มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเงินโลกกำลังแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเผาจริงแค่ไหน นโยบายการเงินสู้เงินเฟ้อสูงที่ยังไม่แน่นอนอาจปรับไปตามสถานการณ์

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%


ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเงินโลกกำลังแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเผาจริงแค่ไหน นโยบายการเงินสู้เงินเฟ้อสูงที่ยังไม่แน่นอนอาจปรับไปตามสถานการณ์ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มเป็นประเด็นร้อนมากขึ้น สถานการณ์แบบนี้จะทำให้มุมมองนักลงทุนกลับมาปิดรับความเสี่ยงต่างๆ ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ยิ่งจะทำให้ความผันผวนและสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกสูงขึ้นบนความไม่แน่นอนหลายเรื่องที่เห็น

สังเกตได้ว่าปกติแล้ว ตลาดการเงินมีลักษณะแบ่งแยกส่วนกัน (financial fragmentation) ตามธรรมชาติ ของตลาดสินทรัพย์ทางการเงิน ลักษณะประเทศ ความซับซ้อนของตัวกลางทางการเงิน หรือประเภทนักลงทุน เป็นผลมาจากนโยบายประเทศและกฎเกณฑ์ของอุตสาหกรรมภาคการเงินที่กำหนดไว้ต่างกัน ทำให้ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk premium) สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศและความเสี่ยงของสินทรัพย์ออกมาไม่เท่ากัน

แต่หากเกิดเหตุการณ์มากระทบทำให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยงกะทันหัน ทำให้นักลงทุนกลัวความเสี่ยงไม่ค่อยเชื่อมั่นที่จะเอาเงินไปลงทุนในตลาดหนึ่งๆขึ้นมา จะตัดสินใจเลือกลงทุนตราสารทางการเงินในตลาดนั้นๆ ก็ต่อเมื่อได้รับผลตอบแทนที่ credit risk premium สูง คุ้มความเสี่ยง หรือถ้าจะตัดสินใจให้กู้เงินก็จะเรียกมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงมากพอ

ยิ่งถ้าเกิดกลไกเสริมแรงนี้ขึ้นมาอีก (self-reinforcing downward spiral) จะยิ่งทำให้ตลาดการเงินแบ่งแยกส่วน (financial fragmentation) เกินพื้นฐานธรรมชาติไปมาก ยิ่งนักลงทุนกลัวความเสี่ยง ก็ยิ่งต้องการ credit risk premium ของตราสารในตลาดนั้นๆสูงขึ้นอีก ยิ่งทำให้ต้นทุนการระดมทุนแพงขึ้นมาก จนผู้ออกตราสารระดมทุนได้ยากขึ้น ทำให้ตลาดสินทรัพย์นั้นๆ ตึงตัวขาดสภาพคล่อง (impaired market liquidity) ไม่สามารถทำหน้าที่ตัวกลางในการระดมทุนได้ตามปกติ (market dysfunction) จนสุดท้ายแล้ว ตลาดสินทรัพย์ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง อาจลุกลามไปตลาดสินทรัพย์จุดอื่นๆ จนกลายเป็นความเสี่ยงของระบบการเงินโลกโดยรวมขึ้นมาได้

ในฉากทัศน์ภาวะการเงินโลกตึงตัวขาดสภาพคล่องฉับพลันไม่เป็นระบบระเบียบเช่นนี้ จะส่งผลลบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกตามมา และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ก็พอเห็นบ้างแล้วในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอังกฤษ นักลงทุนกลัวความเสี่ยงไม่เชื่อมั่นกะทันหันจากการประกาศนโยบายการคลังขัดกับนโยบายการเงินของประเทศ จนทำให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลทำงานไม่ปกติ ขาดสภาพคล่อง กองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษที่ถือพันธบัตรรัฐบาลอยู่เยอะเกิดปัญหาตามมา ธนาคารกลางอังกฤษต้องออกมารับซื้อพันธบัตรรัฐบาลไว้ เป็นที่พึ่งพาแหล่งสุดท้ายในยามตลาดขาดสภาพคล่อง

ตลาดการเงินทำงานไม่ปกติ เป็นอีกความเสี่ยงที่น่าจับตา แม้โอกาสเกิดอาจดูไม่น่ามาก แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกได้ทันที หากผู้เล่นในตลาดการเงินไม่ได้เตรียมตัวรับความเสี่ยงแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องได้ทัน เพราะจะไม่สามารถทำหน้าที่ระดมทุนได้ตามปกติในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และธนาคารกลางหลักกำลังจะทำ quantitative tightening ลดขนาดงบดุล ดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงินโลกอีกทางค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ