นายภุชพงศ์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. เปิดเผยภายในงาน “Thailand 4.0 ประเทศไทยไปไกลกว่าที่คิด” ว่า ในวันที่ 10 ม.ค.2566 นี้ พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ 2565 จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ทุกหน่วยงานภาครัฐทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง ต้องมีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อกับประชาชนอย่างน้อย 1 ช่องทาง ถือเป็นก้าวแรกในการขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างจริงจังและมีกฎหมายให้ต้องปฏิบัติตาม มิเช่นนั้นจะถือว่าละเมิด ก.ม.อาญา มาตรา 157 เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ “ปี 2566 ถือเป็นปีแรกในการขับเคลื่อนเป้าหมายสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งช่องทางดิจิทัลระหว่างภาครัฐและเอกชน อาจเริ่มจากการรับเรื่องราวร้องเรียน ส่วนในระยะต่อไปจนถึงปี 2570 มีเป้าหมายหน่วยงานภาครัฐให้บริการผ่านดิจิทัลได้ 100% ยกเว้น 5 บริการหลักที่ยังต้องไปด้วยตัวเอง ได้แก่ ทำบัตรประชาชน ทำพาสปอร์ต จดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า และจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม”
ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานรัฐบางส่วนให้บริการดิจิทัลได้สมบูรณ์แล้ว เช่น กรมสรรพากรที่ให้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลและนิติบุคคลผ่านออนไลน์ กรมขนส่งทางบกที่ได้บริการต่อทะเบียนรถออนไลน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับบางหน่วยงานที่เห็นว่าไม่สามารถให้บริการดิจิทัลได้ 100% ก็สามารถแจงเหตุผลไปยังหน่วยงานกำกับดูแลได้
ส่วนเป้าหมายอื่นๆในระยะ 5 ปีจากนี้ (ปี 2566-2570)ประกอบด้วย การผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลกินสัดส่วน 30% ของจีดีพี (จาก 12% ในปี 2565) ความเร็วอินเตอร์เน็ตในประเทศที่ 1 Gpbs และตัวเลขการรู้เท่าทันโลกออนไลน์ของคนไทยเพิ่มจากปัจจุบัน 68% เป็น 75% ภายในปี 2570 เป็นต้น.