นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ว่า เดือน ก.ย.การส่งออกมีมูลค่า 24,919 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.8% เทียบเดือน ก.ย.2564 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ ที่มีความผันผวนด้านราคาและยุทธปัจจัย จะขยายตัวได้สูงถึง 9% ส่วนเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 888,371 ล้นบาท เพิ่ม 16.4% ขณะที่การนำเข้า 25,772 ล้านเหรียญ เพิ่ม 15.6% คิดเป็นเงินบาท 929,732 ล้านบาท เพิ่ม 24.7% ขาดดุลการค้า 853 ล้านเหรียญ หรือ 41,361 ล้านบาท ส่วน 9 เดือน แรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 221,366 ล้านเหรียญ เพิ่ม 10.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นเงินบาท 7.523 ล้านล้านบาท เพิ่ม 21.3% การนำเข้า 236,351 ล้านเหรียญ เพิ่ม 20.7% คิดเป็นเงินบาท 8.148 ล้านล้านบาท เพิ่ม 32.3% ขาดดุลการค้า 14,984 ล้านเหรียญ หรือ 624,785 ล้านบาท
“ปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการส่งออกมาจากโลก กำลังกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และใช้ชีวิตในภาวะปกติหลังการคลี่คลายของโควิด-19 ทำให้การส่งออกอาหาร อัญมณี สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องสำอางดีขึ้น ประกอบกับ ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลาย ทำให้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์กลับมาผลิตและส่งออกได้ รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าทำให้ส่งออกสินค้าเกษตรดีขึ้น โดยเฉพาะข้าวที่คาดว่าปีนี้จะส่งออกได้เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ 7 ล้านตัน”
ทั้งนี้ การส่งออกเดือน ก.ย.65 ที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยสินค้าเกษตรเพิ่ม 2.7% จากการเพิ่มขึ้นของไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้ง ทุเรียนแช่แข็ง ข้าว ฯลฯ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.8% จากการเพิ่มขึ้นของไอศกรีม อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ฯลฯ และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 9.4% จากรถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ตลาดส่งออกที่ขยายตัว 10 อันดับแรก อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ทวีปออสเตรเลีย แคนาดา อาเซียน ละตินอเมริกา และช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกจะยังเติบโตได้ดี คาดว่าจะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% และอาจเกินกว่าเป้าไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว หรือ 8%”.