กรณีศึกษาการตัดสินใจของ กสทช.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กรณีศึกษาการตัดสินใจของ กสทช.

Date Time: 24 ต.ค. 2565 05:22 น.

Summary

  • เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของความละเอียดอ่อนในข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นความละเอียดอ่อนกับอนาคตทางธุรกิจในด้านสาธารณูปโภคที่รัฐ พึงจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้บริโภคด้วย

มติที่ประชุม 3-2 เสียง รับทราบ การรวมธุรกิจระหว่างทั้งสองบริษัท โดยมีเรื่องของเงื่อนไขมาตรการป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศของ กสทช. ที่จะกำหนดเงื่อนไขและควบคุมในกรณีดังกล่าว เช่นอาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเพิ่มเติมได้ ซึ่งจุดนี้ กรรมการ กสทช. ที่งดออกเสียง เห็นว่า ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของกฎหมายอยู่ดี

ตามด้วยเรื่องที่มีข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ที่ให้เหตุผลว่ามีการกำหนดเพดานของอัตราค่าบริการเฉลี่ย มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ นำส่งข้อมูลในการตรวจสอบ มีบทลงโทษ รวมทั้งการกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐ ศาสตร์ ที่ให้นำส่งตามประกาศของ กสทช. ตามหลักเกณฑ์ให้ครบถ้วนทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช.ร้องขอ จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบ ข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ โดยให้ กสทช.เป็นผู้กำหนด

มีการกำหนดเงื่อนไขอื่นๆอีกหลายข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การถือครองคลื่นความถี่ มาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ เป็นต้น

ที่ส่วนใหญ่เป็นเงื่อนไขข้อตกลงเฉพาะระหว่าง กสทช. และบริษัทเอกชน แต่ในทางปฏิบัติสิ่งที่จะกระทบกับผู้บริโภค รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม

มีการตั้งข้อสังเกตจาก กสทช.เสียงข้างน้อย ศุภัช ศุภชลาศัย และพิรงรอง รามสูต ส่วน พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ของดออกเสียงเพราะมีข้อสงสัยในแง่ของกฎหมายอยู่ ในประเด็นที่ว่า ในทางกฎหมายแล้ว กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่ ในการควบรวมครั้งนี้ โดยเฉพาะมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

ในเมื่อการควบรวม ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีค่าดัชนี HHI มากกว่า 2,500 และเพิ่มจากเดิมกว่า 100 ไม่ว่าจะคำนวณจากส่วนแบ่งตลาดที่คิดจากจำนวนผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการแต่ละราย หรือส่วนแบ่งจากรายได้ของผู้ให้บริการ ที่คาดว่า หลังการควบรวม HHI จะเพิ่มขึ้น จาก 3,612 เป็น 4,725 เพิ่มขึ้นถึง 1,113 และมีผลกระทบต่อตลาดต้นน้ำในระดับ โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกันในทุกด้าน

ส่งผลให้อัตราค่าบริการ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด คุณภาพการให้บริการ การขาดแรงจูงใจในการแข่งขันด้านบริการ การเข้าสู่ตลาด ไม่มีความชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการควบรวม ดังนั้น ผลกระทบที่จะตามมาหรือไม่ก็ตาม นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.และต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.จะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ