ค่าไฟฟ้าอาจแพงอีก 2 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ค่าไฟฟ้าอาจแพงอีก 2 ปี

Date Time: 22 ต.ค. 2565 06:59 น.

Summary

  • มีหนังสือชี้แจงจากฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชี้แจงเนื้อหาบางส่วนในบทความเรื่อง “2 สาเหตุค่าไฟแพงที่ถูกปิดบัง”

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย


มีหนังสือชี้แจงจากฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชี้แจงเนื้อหาบางส่วนในบทความเรื่อง “2 สาเหตุค่าไฟแพงที่ถูกปิดบัง” ฉบับวันจันทร์ที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ผมเขียนระบุว่า 1 ในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงมาจากการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทยที่ผิดพลาดของ ปตท.สผ. โดยปัญหาการเปลี่ยนผ่านระหว่างกลุ่มเชฟรอน ผู้รับสัมปทานรายเก่า กับ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานใหม่ ทำให้การผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยไม่ต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น ไทยจึงต้องนำเข้า LNG ราคาสูงมาเสริมเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าบริหารก๊าซในอ่าวไทยได้ตามปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้า LNG ราคาแพงเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ ค่าไฟก็จะถูกลงได้อีกมาก

ทาง ปตท.สผ.ได้ชี้แจงข้อมูลมาว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณที่ไม่ได้ตามแผนงาน ไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของ ปตท.สผ. โดย ปตท.สผ.ได้เข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณ เพื่อให้บริษัทไทยได้เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) แหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งพยายามหาวิธีลดต้นทุนการผลิตก๊าซธรรมชาติ และยื่นข้อเสนอในการประมูลด้วยราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ต่ำกว่าแหล่งอื่นๆในอ่าวไทย

ภายหลังชนะการประมูล บริษัทได้เตรียมแผนงานในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่วงหน้า เพื่อเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้อย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ ปตท.สผ. เข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อในวันที่ 24 เม.ย.2565 ที่อัตราการผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)

การดำเนินแผนงานล่วงหน้าดังกล่าวนั้น จะต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต 8 แท่น ติดตั้งท่อส่งก๊าซและเรือติดตั้ง เชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่างๆเข้าด้วยกัน และเจาะหลุมผลิตกว่า 100 หลุม ปตท.สผ.พยายามประสานงานกับ เชฟรอน มาโดยตลอด ในการขอเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประชาชนและประเทศ แต่ ปตท.สผ.กลับไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าพื้นที่ จนเกิดความล่าช้าจากแผนงานมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ส่งผลให้แหล่งเอราวัณไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามสัญญา PSC

ทั้งนี้ ปตท.สผ.พยายามลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ด้วยการปรับแผนงานและดำเนินการในส่วนที่สามารถทำได้ เพื่อให้ได้รับการยินยอมเข้าพื้นที่ได้ จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ในวันที่ 24 เม.ย.2565 ซึ่ง ปตท.สผ.เข้าเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณนั้น อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เชฟรอนส่งต่อไว้คือ 376 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ต่ำกว่าการผลิตในอัตราปกติที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเนื่องจากเชฟรอนหยุดการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติมาเป็นเวลานาน รวมถึงหยุดแท่นผลิตบางส่วน ประกอบกับการที่ไม่ยินยอมให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ตามแผน จึงส่งผลให้ระดับการผลิตของแหล่งเอราวัณลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือทำให้คนไทยและประเทศเสียประโยชน์ในการได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนถูกลง

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ ปตท.สผ.ได้เตรียมแผนรองรับในส่วนที่สามารถทำได้ โดยเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ในอ่าวไทยมาทดแทน รวมเป็นปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ก็เป็นอย่างที่ผมเขียนนั่นแหละครับ ถ้าบริหารก๊าซในอ่าวไทยได้ตามปกติ ค่าไฟฟ้าจะถูกลงอีกมาก และจากข้อมูลที่ชี้แจงมา ปัญหาในการเข้าพื้นที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 2 ปี ก็คงหนีไม่พ้นต้องเจอค่าไฟแพงอีก 2 ปี.

ลมกรด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ