ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคได้เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อยื่นหนังสือเร่งรัดให้พิจารณากรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค โดยมีพลเอกกิตติ เกตุศรี ผู้ปฏิบัติงานประธาน กสทช. เป็นผู้แทนรับมอบ โดยมีม็อบตัวแทนผู้บริโภคจำนวนหนึ่งมายกป้ายเชียร์
โดยนายจักรกฤษณ์กล่าวว่า เนื่องจากในวันที่ 12 ต.ค.นี้ ที่ประชุมบอร์ด กสทช.มีวาระพิจารณากรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค จึง ถือเป็นโอกาสดีที่จะมายื่นหนังสือเพื่อเร่งรัดบอร์ด เนื่องจากทรูและดีแทคได้ทำรายงานเรื่องการควบรวมไปให้สำนักงานตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2565 และได้ให้ความร่วมมือนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาโดยตลอด แต่ขณะนี้ผ่านไป 9 เดือนแล้ว ปกติต้องพิจารณาภายใน 90 วัน ซึ่งเลยจากระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดมานานแล้ว การพิจารณาก็ยังไม่เสร็จสิ้น ความล่าช้าดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น ที่จะเสียโอกาสจากการได้ใช้สินค้า บริการ และสิทธิพิเศษที่มากขึ้น ตลอดจนเครือข่ายที่ครอบคลุมและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่
“อยากขอความเป็นธรรมจาก กสทช.ให้เร่งรัดไม่ให้เกิดความล่าช้าไปมากกว่านี้ และหาก กสทช.เห็นควรให้มีมาตรการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย กำหนด ให้บริษัทผู้ควบรวมปฏิบัติ ก็ขอให้พิจารณามาตรการที่เหมาะสม”
ด้านนายเลิศรัตน์กล่าวว่า กระแสตอบรับการควบรวมจากลูกค้าดีแทคเป็นไปในทางที่ดี เพราะทำให้บริการดีขึ้น เท่าที่ได้ทำการวิจัยแล้วเห็นว่าไม่มีผลในแง่ลบ มีแต่แง่บวก ซึ่งยืนยันได้ว่าลูกค้าดีแทคจะได้ใช้งานเครือข่ายที่ดีขึ้น พื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้น และคุณภาพบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน
นายจักรกฤษณ์ กล่าวสรุปเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการที่ทาง กสทช.จะกำหนด ยังไม่ทราบว่ามีข้อใดบ้าง ตามที่มีข่าวว่าจะไม่ให้รวมคลื่นนั้น มองว่า กสทช.น่าจะไม่มีข้อนี้ เพราะการรวมคลื่นทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด ลูกค้าทั้งสองบริษัทสามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้ และในส่วนความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาด ราคาค่าบริการจะสูงขึ้นและทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ กสทช.มีประกาศเรื่องอัตราค่าบริการ มีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสุด และสามารถกำกับได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ในขณะที่เรื่องคุณภาพยิ่งเชื่อว่าจะดีขึ้น
ด้าน น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ไม่สามารถประเมินได้ว่าที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 12 ต.ค.จะได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวหรือไม่อย่างไร โดยหลักการสำหรับตนแล้ว การตัดสินใจในเรื่องนี้ต้องมีข้อกฎหมายรองรับทั้งหมดและต้องครบถ้วน ยืนยันไม่มีเจตนาทำให้ล่าช้า โดยล่าสุดก็ยังมีผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อการพิจารณาอีก เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ น.ส.พิรงรองกล่าวว่า การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่.