แก้กฎหมาย กยศ. ต้องปลูกฝังวินัยการเงินจิตสำนึกใช้หนี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แก้กฎหมาย กยศ. ต้องปลูกฝังวินัยการเงินจิตสำนึกใช้หนี้

Date Time: 26 ก.ย. 2565 07:35 น.

Summary

  • การที่ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (พ.ร.บ.กยศ.) ฉบับใหม่ผ่านวาระ 3 จากสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีการปรับแก้กฎหมายไปจากวัตถุประสงค์เดิมของผู้เสนอแก้กฎหมาย

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

การที่ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (พ.ร.บ.กยศ.) ฉบับใหม่ผ่านวาระ 3 จากสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีการปรับแก้กฎหมายไปจากวัตถุประสงค์เดิมของผู้เสนอแก้กฎหมายอย่างกระทรวงการคลังไปไม่น้อยนั้น

กำลังก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากร่างของกระทรวงการคลังที่เสนอให้แก้ไขอัตราดอกเบี้ยจากเดิมอยู่ที่ไม่เกิน 7.5% เหลือเป็นไม่เกิน 1% รวมทั้งปรับลดอัตราเบี้ยปรับจากเดิมไม่เกิน 18% เป็นไม่เกิน 7.5%

กลายเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ คือ การยกเลิกเก็บดอกเบี้ย ยกเลิกค่าปรับผู้ผิดนัดชำระหนี้ และให้มีผลย้อนหลังทุกราย โดยให้เหตุผลสรุปพอสังเขปได้ว่า กยศ.ไม่ควรหารายได้จากดอกเบี้ยและค่าปรับ เนื่องจากเป็นเงินเพื่อการศึกษา

กรณีดังกล่าวนำไปสู่ข้อกังวลที่ว่า อาจเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยไม่รักษาวินัยทางการเงิน ขาดจิตสำนึกรับผิดชอบภาระหนี้ของตัวเอง ที่สำคัญดอกเบี้ยน้อยนิดดังกล่าว ถือเป็นรายได้เข้ากองทุนเพื่อนำเงินมาส่งต่อโอกาสรุ่นน้องให้ได้เรียนหนังสือต่อ ทำให้กองทุนมีอิสระทางการเงินโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน

และแม้จะสามารถเก็บดอกเบี้ยได้สูงสุดไม่เกิน 7.5% แต่นับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนมา กยศ.เก็บดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่เกิน 1% เท่านั้น

มิหนำซ้ำในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 - เดือน ธ.ค.2565 ดอกเบี้ยได้ถูกปรับลดลงอีกเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้, ลดอัตราเบี้ยปรับสำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี จาก 7.5% เหลือ 0.5%, ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชีสำหรับผู้กู้เงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี, ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่มาชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด เป็นต้น

สัปดาห์นี้ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้ติดตามสอบถามความเห็นจาก 3 ผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้จัดการกองทุน กยศ. อาจารย์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้กู้ยืม ซึ่ง 3 เสียงใจตรงกัน เห็นไม่ควรยกเลิกดอกเบี้ยและค่าปรับ!!!

เปิดปูมหลังจัดตั้งกองทุน กยศ.

ย้อนไปเมื่อปี 2538 คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนั้น เห็นชอบให้จัดตั้งกองทุน กยศ.โดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน มีเงินค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นระหว่างการศึกษา

และต่อมาปีงบประมาณ 2539 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นทุนประเดิมเริ่มต้น 3,000 ล้านบาท จนถึงปี 2560 สิริรวมมีการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปแล้ว 468,673 ล้านบาท

ปี 2561 นับเป็นปีสุดท้ายที่กองทุน กยศ.ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน โดยจากนั้นกลายเป็นกองทุนที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นกองทุนหมุนเวียนเต็มรูปแบบ ไม่ต้องพึ่งพาเงินภาษี ไม่ขอรับการสนับสนุนจากวงเงินงบประมาณแผ่นดิน

โดยเงินหมุนเวียนในการให้กู้ยืมจากรุ่นพี่ส่งต่อรุ่นน้อง เป็นเงินมาจากการชำระคืนราว 30,000-38,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และค่าปรับอัตรา 7.5% รวมปีละ 6,000 ล้านบาท ถือว่าเพียงพอที่จะนำมาปล่อยกู้ต่อและเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

จากวันนั้นถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 20 ปี กยศ.ได้ปล่อยกู้ให้เด็กนักเรียนไปแล้ว 6.28 ล้านคน วงเงิน 702,309 ล้านบาท มีผู้ปิดบัญชีชำระหนี้หมดแล้ว 1.6 ล้านคน คิดเป็นเงิน 129,183 ล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษา 986,668 คน คิดเป็นเงิน 114,398 ล้านบาท อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.55 ล้านคน คิดเป็นเงิน 452,677 ล้านบาท เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,787 คน คิดเป็นเงิน 6,051 ล้านบาท (ตารางที่ 1)

สำหรับสถานะการชำระหนี้ของผู้กู้ 5.22 ล้านคนนั้น แบ่งเป็น ไม่ผิดนัดชำระหนี้ 2.85 ล้านคน และชำระปกติ 1.18 ล้านคน ผิดนัดชำระหนี้ 2.37 ล้านคน คิดเป็นเงินต้นที่ผิดนัดชำระ 91,260 ล้านบาท (ตารางที่ 2)

โดยในส่วนของลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้นั้น กยศ.ติดตามและออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงโควิดมีการผ่อนปรนเงื่อนไขให้ลูกหนี้ชั้นดีที่ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ

รวมทั้งยังมีอีกหลายมาตรการที่ กยศ.พยายามไกล่เกลี่ย เพื่อให้ผู้กู้ยืมกลับมาชำระหนี้ดังเดิม ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ การหักเงินเดือน การขยายการชำระได้นาน 30 ปี เงินงวดผ่อนชำระลดลง การชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี เว้นแต่คดีใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ยืมและหรือผู้ค้ำประกันออกไปอีกด้วย

แต่ในส่วนลูกหนี้ที่ถูกฟ้องหรือบังคับคดีไปแล้ว กยศ.ไม่สามารถช่วยเหลือแก้หนี้ให้ได้ เนื่องจากยังติดขัดข้อกฎหมาย ที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล จึงเป็นที่มาของการเสนอแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้

กยศ.แจงวัตถุประสงค์แก้กฎหมาย

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึง ที่มาของการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุน กยศ. มีวัตถุประสงค์เริ่มแรก เพื่อเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี มีจำนวนกว่า 1.1 ล้านราย ให้สามารถเข้าร่วมการแก้ไขหนี้ แปลงหนี้ เพื่อกลับมาผ่อนชำระได้อีกครั้ง

ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์
ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์

นอกจากนี้ ยังเสนอแก้ไขอัตราดอกเบี้ยและค่าปรับ โดยเขียนระบุให้ชัดเจน เป็นคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% จากเดิมไม่เกิน 7.5% อัตราเบี้ยปรับไม่เกิน 7.5% จากเดิมไม่เกิน 18% โดยการแก้กฎหมายเป็นการแก้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนมา กยศ.ไม่เคยเก็บดอกเบี้ยเกิน 1% แม้เพดานจะให้ปรับได้ถึงไม่เกิน 7.5% มิหนำซ้ำในช่วงโควิด ยังลดดอกเบี้ยเพิ่ม จาก 1% เหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งลดเบี้ยปรับสำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี จาก 7.5% เหลือ 0.5% เป็นต้น

ร่างกฎหมายใหม่ยังรวมไปถึงการยกเลิกการค้ำประกันด้วย ซึ่งการยกเลิกการค้ำประกันนั้น กองทุน กยศ.ได้ออกประกาศยกเลิกมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว แต่ต้องออกเป็นกฎหมายเพื่อความชัดเจน ที่ผ่านมาจากจำนวนผู้กู้ยืมเงิน 4 ล้านคน ที่มีผู้ค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นพ่อ-แม่ ผู้ปกครองถึง 85% ที่เหลือเป็นญาติพี่น้อง 14% อื่นๆ 1% โดยในสัดส่วนของอื่นๆ นั้น มีครู อาจารย์อยู่ที่ 0.01% หรือ 4,000 คน

แต่ผลปรากฏร่าง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. พ.ศ.....ฉบับใหม่ ที่ผ่านวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปแล้วนั้น ได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น ยกเลิกดอกเบี้ยเงินกู้ ยกเลิกค่าปรับผู้ผิดนัดชำระหนี้ จนกลายเป็นคำถามร้อนแรงในสังคม ณ ขณะนี้

“ยืนยันการยกเลิกดอกเบี้ย ค่าปรับนั้น ไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาของการเข้าถึงการศึกษา หากเงินกองทุน กยศ.หมดลง ก็จะส่งผลต่อภาระเงินงบประมาณแผ่นดิน และยังส่งต่อบรรทัดฐานของสังคมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นอนาคตของชาติด้วย”

ที่สำคัญขณะนี้มีคนเป็นจำนวนมากที่เข้าใจว่า การกู้ยืมเงินกยศ.ยุ่งยากมาก และไม่อยากให้ลูกหลานเป็นหนี้ตั้งแต่เด็ก จึงหันไปกู้นอกระบบแทน เพราะไม่อยากให้ลูกหลานเป็นหนี้ และตัวเองจึงยอมเป็นหนี้เอง ซึ่งวิธีนี้ไม่ขอแนะนำ

“อยากทำความเข้าใจว่า กองทุน กยศ.เป็นหลักประกันสำหรับทุกครอบครัว ในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และความยากจนไม่ใช่อุปสรรคของการเข้าถึงการศึกษาอีกต่อไป ขอเพียงมายื่นกู้กับกองทุน กยศ. หากครอบครัวใด ขาดแคลนทุนทรัพย์ บุตรหลานสามารถกู้เรียนได้ ตั้งแต่ระดับมัธยมปลายจนจบปริญญาตรี โดยเฉพาะในยุคนี้ กยศ.สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้ปกครองได้”

กรณีมีปัญหาการชำระหนี้ ขอให้เข้ามาปรึกษาไกล่เกลี่ยหนี้ ยืนยันมีทางออกให้ผู้กู้ยืมทุกคน

เกรงเยาวชนกลายเป็นคนไม่มีเครดิต

รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เบื้องต้นไม่เห็นด้วยที่จะแก้กฎหมายยกเว้นดอกเบี้ย ค่าปรับ เพราะในตอนที่ทำสัญญากู้เงิน ทุกคนน่าจะเดือดร้อนจากภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน กองทุนตั้งขึ้นมาก็เพื่อแบ่งเบาภาระนี้ ตอนกู้ก็ต้องทราบเงื่อนไขจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ย 1% ก็ไม่ได้แพงเมื่อเทียบการกู้ยืมเงินปกติ ผู้บริหารกองทุนก็บริหารได้ดีจนสามารถนำเงินหมุนเวียนเพื่อเอามาช่วยเหลือรุ่นน้องที่ขาดแคลนในรุ่นถัดๆไปได้หลายล้านคน

รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ
รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ

นอกจากนั้น ยังจะเป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่เขากู้แล้วจ่ายคืนพร้อมดอก และอาจทำให้เกิดการเอาเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี เพราะอาจเป็นการส่งเสริมให้ไม่มีวินัยทางการเงิน กระทั่งกลายเป็นคนไม่มีเครดิต แต่หากบางคนยังหางานทำไม่ได้ หรือแม้บางคนมีงานทำแต่รายได้ไม่พอที่จะรับภาระจ่ายคืน ผู้บริการกองทุนก็ควรมีมาตรการผ่อนผันตามความเหมาะสมกับรายได้ของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก อาจจะเป็นอันดับหนึ่งของโลกเสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจนเมื่อปี 2538 รัฐได้จัดตั้งกองทุน กยศ.เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยนั้น มีมากเสียจนส่งผลถึงคุณภาพการศึกษา โดยไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษามาก รัฐจัดสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาในสัดส่วนที่สูงพอๆกับประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ แต่คุณภาพการศึกษากลับตกต่ำ เห็นได้จากผลคะแนน PISA (โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ) ว่าอันดับของไทยตกลงเรื่อยๆ สวนทางกับงบประมาณที่ทุ่มลงไป

โจทย์ใหญ่ของประเทศก็คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและปรับคุณภาพการศึกษาไปพร้อมๆกันด้วย ซึ่งผมสนับสนุนการทำให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการ ที่เป็นการเรียนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน พร้อมๆกับอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนให้กับทุกคน ผมขอฝากเรื่องนี้ไปยังทุกคนและนักการเมืองที่กำลังหาเสียงด้วย

อดีตผู้กู้ชี้ดอกเบี้ยไม่ใช่อุปสรรค

ส่วน น.ส.อนัญญา มูลเพ็ญ พนักงานรัฐวิสาหกิจ อดีตผู้กู้ยืม กยศ. เปิดเผยว่า ในฐานะเคยเป็นผู้กู้ยืม กยศ. มาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จนจบชั้นปริญญาตรี (ช่วง พ.ศ.2542-2547) และปัจจุบันชำระหนี้หมดแล้ว โดยเริ่มชำระตามตารางที่ กยศ. กำหนดให้ตั้งแต่ปีแรก หากปีไหนที่มีเงินพิเศษ ก็จะนำไปตัดต้นบ้าง ทำให้ชำระหนี้ได้หมดในเวลา 14 ปี จากยอดเงินกู้เต็มเพดาน 100% ที่ผู้เรียนสายศิลป์จะกู้ได้

อนัญญา มูลเพ็ญ
อนัญญา มูลเพ็ญ

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในบางประเด็นของร่าง พ.ร.บ.กยศ. ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติผ่านร่างไปแล้ว โดยเฉพาะประเด็นการไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดเบี้ยปรับ ทั้งที่ผู้ที่มีการชำระหนี้ปกติ ผู้ชำระล่าช้า หรือผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยมองว่าการไม่คิดดอกเบี้ย ค่าปรับจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นอีก สนับสนุนการผิดวินัยการเงินส่วนบุคคล โดยดอกเบี้ยที่ กยศ. คิดกับผู้ชำระหนี้ปัจจุบันก็ถือว่าต่ำมากคือ 1% ต่อปี

จากส่วนตัวที่เคยชำระหนี้อยู่ ปีแรกๆ ที่แม้เงินต้นยังมากอยู่ ดอกเบี้ยต่อปี ก็ยังไม่กี่พันบาทเท่านั้น และเมื่อชำระหนี้ตามตาราง ดอกเบี้ยก็ลดลงเรื่อยๆ เพราะดอกเบี้ย กยศ. เหมือนดอกเบี้ยบ้าน คือเงินต้นลด ดอกเบี้ยก็ลด ดังนั้นจึงมองว่าดอกเบี้ยไม่ใช่อุปสรรคของการชำระหนี้

“หากต้องการจะช่วยเหลือ ควรเป็นเรื่องของการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น เช่น เป็น 25-30 ปี หรือลดดอกเบี้ยลงเช่น เหลือ 0.5% หรือ 0.25% ต่อปี แต่อย่างน้อยควรมีเงินดอกเบี้ยที่เข้ามาหมุนเวียนเพื่อบริหารจัดการกองทุนต่อไปได้ สร้างสมดุลระหว่างการให้โอกาสสำหรับเยาวชนที่ด้อยโอกาสกับภาระงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินภาษีของคนส่วนรวม ส่วนเบี้ยปรับและดอกเบี้ยสำหรับผู้ชำระล่าช้าหรือผิดนัดชำระอาจจะปรับลดลงจากปัจจุบัน แต่ควรกำหนดให้สูงกว่าผู้ชำระปกติ เพื่อสร้างแรงจูงใจไม่ให้ผิดนัดชำระ และมีวินัยทางการเงิน”

ส่วนประเด็นไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เห็นด้วยที่ควรยกเลิก เนื่องจากเรื่องนี้ได้สร้างปัญหาให้กับผู้ค้ำประกันจำนวนมาก ทั้งในส่วนผู้ปกครอง ข้าราชการ รวมถึงครู อาจารย์ ที่ค้ำประกันให้ผู้กู้ยืมเงินด้วย

@@@@@@@@@

ทั้งนี้ สถานะปัจจุบันของร่าง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ไปแล้วทั้ง 3 วาระ กำลังรอเข้าสู่การพิจารณาในชั้นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งกระทรวงการคลังและ กยศ. ได้เตรียมข้อมูลชี้แจงไว้ทุกประเด็นแล้ว หากที่ประชุม ส.ว.เห็นด้วย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

แต่หากที่ประชุม ส.ว. ไม่เห็นด้วยและต้องการแก้ไขกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. ก็จะถูกส่งกลับไปให้ที่ประชุม ส.ส.พิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในชั้นของการประชุมของ ส.ว.นั้น จะหยิบยกมาพิจารณาในวาระแรกของสมัยการประชุมครั้งหน้า เดือน พ.ย.2565 เพราะสมัยประชุมนี้ได้ปิดประชุมรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา จึงต้องรอการเปิดประชุมสมัยหน้า ว่าที่ประชุม ส.ว.จะมีความเห็นเป็นเช่นไร....

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ