นายเอกนิติ นิติทัณประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอน แท็กซ์ ในประเทศ โดยไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องจัดเก็บภาษีนี้ เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศในโลกเริ่มจัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เป็นประเทศแรกๆในโลกที่จะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2566 โดยประเทศไทยจะเริ่มศึกษาเก็บจากสินค้าที่มีผลต่อการปล่อยคาร์บอนสูง คล้ายคลึงกับยุโรป 5 ชนิด คือ ปูนซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ยเคมี และการผลิตกระแสไฟฟ้า
“เมื่อหลายประเทศในโลกเริ่มเก็บภาษีตัวนี้ หากสินค้าในประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บ เมื่อเราส่งสินค้าไปขายในประเทศที่มีภาษี สินค้าไทยก็ต้องเสียภาษีตัวนี้ด้วย แต่หากเรามีการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ก็อาจสามารถเจรจากับประเทศที่เราส่งออกสินค้าเพื่อขอยกเว้นภาษีตัวนี้”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันทั่วโลกมีวิธีการเก็บภาษีคาร์บอนอยู่ 2 แนวทางคือ การเก็บภาษีจากตัวสินค้าที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน ถ้าปล่อยคาร์บอนสูงก็เสียภาษีสูง เป็นต้น กับอีกแนวทางหนึ่ง คือการเก็บภาษีบนกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งต้องคำนวณการปล่อยคาร์บอนของโรงงานนั้นว่าปล่อยออกมาเท่าไร เพื่อใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ซึ่งกรมสรรพากรเตรียมจะจัดทำความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน เพื่อมาช่วยคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องยากและกรมไม่มีความรู้โดยตรง
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ท้าทายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ได้แก่ 1.การฟื้นตัวจากโควิดท่ามกลางสงครามการค้าและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค 3.สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพมีการเติบโตมากขึ้น และ 4.ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวขับเคลื่อน.