กกร.ห่วงต้นทุนค่าไฟ-ค่าแรงเสี่ยงฉุดธุรกิจทรุด ส่วนจีดีพีปีนี้ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 2.75-3.5% พร้อมจับตาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเกินคาด เพราะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปถดถอย ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนพุ่ง 12% หนุน SET ยังไปได้ต่อ คาด ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จนถึงระดับ 1.50% ในต้นปีหน้า
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.กังวลใจเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เพราะจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนด้านแรงงานจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บเงิน สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ที่จะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ กกร.ต้องติดตามภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความเสี่ยงจะชะลอตัวกว่าที่คาดอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม กกร.มั่นใจว่าการท่องเที่ยวและมาตรการภาครัฐจะเป็นแรงส่งเสริมให้ภาวะ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีฟื้นตัวได้จากกรณีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ในเดือน ก.ค.ที่มีจำนวนอยู่ที่ 1.12 ล้านคน ส่งผลให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีนี้มีโอกาสแตะระดับ 9-10 ล้านคน รวมทั้งยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดย กกร.คงประมาณการจีดีพีของประเทศไทยปี 65 จะเติบโตในกรอบ 2.75-3.5%
นายผยง กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กกร.ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบในการปรับขึ้นปัจจัยต้นทุนที่ส่งผลกระทบ ต่อการประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ขอให้ทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชน และผู้ประกอบการจากวิกฤติสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
นายกอบศักดิ์ ภูตรกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ผลสำรวจเดือน ส.ค.65 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.2% โดยนักลงทุนมองว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นที่มีน้ำหนัก รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ โรคระบาดของโควิด, การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการไหลออกของฟันด์โฟลว์ต่างชาติ
นายกอบศักดิ์ยังได้ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยว่าน่าจะยังไปได้ต่อ รวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่กำลังจะเริ่มกลับมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลให้กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยรวมยังคงเติบโตได้ดี สำหรับทิศทางกระแสเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) นั้น แม้ปัจจุบันจะยังเคลื่อนไหวเข้าๆออกๆตามตลาดโลก แต่เชื่อว่าในที่สุดแล้วเงินทุนต้องมีที่ไป ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่มีการเติบโตได้ต่อเนื่อง รวมถึงสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ง่าย จึงคาดว่าหากเงินทุนต่างชาติจะไหลออก ก็คงไม่มากเท่ากับตลาดภูมิภาคอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมองแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1.25% และมีโอกาสขยับขึ้นไปสู่ระดับ 1.5% ในช่วงเดือน มี.ค.66.