ทางหลวงชู 3 ไอเดียลดอุบัติเหตุ  จัดจุดพักคน-รถบรรทุกเพิ่ม-แก้ปัญหาแยกวัดใจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทางหลวงชู 3 ไอเดียลดอุบัติเหตุ จัดจุดพักคน-รถบรรทุกเพิ่ม-แก้ปัญหาแยกวัดใจ

Date Time: 1 ก.ย. 2565 08:06 น.

Summary

  • กรมทางหลวงผุด 3 โครงการ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตอบโจทย์คนใช้ถนนหลวง เพิ่มความสะดวกรถบรรทุก จัดงบประมาณปี 65-67 เปิด “จุดพักรถบรรทุก S-M-L กว่า 111 แห่ง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

กรมทางหลวงผุด 3 โครงการ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตอบโจทย์คนใช้ถนนหลวง เพิ่มความสะดวกรถบรรทุก จัดงบประมาณปี 65-67 เปิด “จุดพักรถบรรทุก S-M-L กว่า 111 แห่ง เพิ่มจุดบริการประชาชนกว่า 581 แห่ง ลานกางเต็นท์ฟรี 60 แห่ง และเร่งแก้ปัญหาแยกวัดใจทางหลวงกว่า 1.4 พันแห่งทั่วไทย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจหลักของกรมทางหลวงในการสร้าง ขยาย ปรับปรุงถนนได้มาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้เดินทางอย่างปลอดภัยแล้ว กรมทางหลวงยังตระหนักการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย และเพื่อความปลอดภัยต่อคนใช้ถนน

กรมทางหลวงจึงมีแผนดำเนินการ 1.โครงการสร้างจุดพักรถบรรทุก 3 ขนาด คือ พื้นที่ขนาดใหญ่ไซส์ L ขนาดกลางไซส์ M และขนาดเล็กไซส์ S รวม 111 แห่ง 2.สร้างจุดบริการประชาชน และ 3.ปรับปรุงความปลอดภัยบริเวณทางแยกอันตราย (แยกวัดใจ) กว่า 1,412 แห่งทั่วไทย โดยทั้ง 3 โครงการจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 65-67

เปิดจุดพัก “รถบรรทุก” ใหญ่-กลาง-เล็ก

โดย “โครงการจุดพักรถบรรทุกทั่วประเทศ” จะดำเนินการใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 65-67 รวม 111 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นการต่อยอดจุดพักรถบรรทุกที่ทำอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเป็นจุดพักรถที่ทำอยู่กับด่านชั่งน้ำหนัก ซึ่งรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ แต่พอเข้ามาเป็นอธิบดี พบว่าจุดพักรถไซส์ดังกล่าวไม่สามารถสร้างได้เยอะ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณและพื้นที่ จึงมีแนวคิดทำจุดพักรถเป็น 3 ขนาดคือ พื้นที่ขนาดใหญ่ไซส์ L, พื้นที่ขนาดกลางไซส์ M และพื้นที่ขนาดเล็กไซส์ S และข้อดีคือ ขนาด S และขนาด M จะเป็นขนาดที่ไม่ต้องเวนคืนพื้นที่ แต่ใช้ที่ในเขตทางที่ทางหลวงมีอยู่ หรือใช้บริเวณหมวดทางหลวง ซึ่งได้ให้แนวคิดให้แขวงทางหลวงไปสำรวจว่ารถบรรทุกชอบจอดตรงไหนบ้าง เพื่อให้สนองตอบความต้องการ ไม่ใช่อยู่ๆ ไปทำแล้วไม่มีใครมาจอด

โดยพื้นที่ไซส์ S จะจอดรถบรรทุกได้ไม่เกิน 5 คัน ใช้วงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท พื้นที่ขนาด M จะจอดรถบรรทุกไม่เกิน 10 คัน ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ไซส์ L ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งแต่ละจุดจอดพักจะทำช่องจอด ติดตั้งไฟแสงสว่าง ห้องน้ำ โดยเมื่อรวมจุดพักที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 64 และตามแผนปี 65-ปี 67 แล้วจะมีจุดให้บริการรวมกันกว่า 111 จุด ใช้งบประมาณปีละ 300-400 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนอัปเกรดแต่ละจุดให้ดีขึ้นด้วย จุดไหนมีคนเข้ามาใช้บริการมาก ก็จะขยายพื้นที่ ทำห้องน้ำเพิ่ม หรือติดตั้งกล้อง CCTV เป็นต้น

“สาเหตุที่กรมทางหลวงมีแนวนโยบายทำจุดพักรถ เนื่องจากที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะเกิดขณะที่รถบรรทุกจอดอยู่ข้างทาง จะมีมอเตอร์ไซค์ หรือรถเก๋งเข้ามาชนท้าย บางครั้งจะไปจอดที่สถานีบริการปั๊มน้ำมัน ผู้ให้บริการก็ไม่ให้จอด และหากมีที่จอดพักแน่นอนจะช่วยลดโอกาสการถูกปล้นหรือถูกทำร้ายร่างกายได้อีกด้วย ขณะเดียวกันกรมทางหลวงยังสามารถตรวจสอบควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกได้”

ยกระดับจุดแวะพักคนเดินทาง

นายสราวุธกล่าวต่อว่า สำหรับคนเดินทาง กรมทางหลวงได้เร่งยกระดับจุดบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการในเส้นทางหลวงทั่วไทย จากในปัจจุบันที่จุดบริการประชาชนจะอยู่ตามหมวดทางหลวงที่อยู่ทั่วประเทศกว่า 581 แห่ง และตำรวจทางหลวงบริการควบคู่ด้วย ซึ่งในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลสงกรานต์ จะเปิดเป็นจุดบริการประชาชนกว่า 423 แห่ง ภายในจุดบริการทั่วไทยจะมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการประชาชนผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเป็นเทศกาลปีใหม่ บางหมวดทางหลวงในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวก็จะเปิดเป็นที่พักผ่อน

“ได้ให้นโยบายหมวดทางหลวงทั่วไทย สำรวจว่าพื้นที่ใดบ้างที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับการพักผ่อนด้วย ล่าสุดพบว่ามีกว่า 50-60 หมวดทางหลวงที่มีศักยภาพ ใกล้แหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นจุดแลนด์มาร์ก ยิ่งถ้าช่วงหน้าหนาวสามารถจะเปิดเป็นจุดกางเต็นท์ให้ประชาชนได้ เช่น แขวงทางหลวงแม่ฮ่องสอน หมวดทางหลวงปาย ทล 1395 ทางเข้าปาย, แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 1 หมวดทางหลวงจอมทอง ทล 1009 จอมทอง - ดอยอินทนนท์, แขวงทางหลวงน่านที่ 2 หมวดทางหลวงบ่อเกลือ ทล 1081 หลักลาย-บ่อเกลือ, แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 1 หมวดทางหลวงเขาค้อ ทล 2196 นางั่ว-ทุ่งสมอ เป็นต้น

โดยกรมทางหลวงจะเร่งปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้บริการประชาชนได้เต็มที่ เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะเพิ่มเติมบางจุดแม้ว่าจะไม่ได้ให้บริการอย่างเป็นทางการ แต่หากฉุกเฉินจริงๆ ก็สามารถเข้าไปได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมิตรกับประชาชนของกรมทางหลวง เช่น แวะพักเข้าห้องน้ำ สอบถามเส้นทาง

ระดมแก้ปัญหาแยกวัดใจทางหลวง

นอกจากนั้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ กรมทางหลวงยังได้เร่งสำรวจบริเวณทางแยกอันตราย หรือที่เรียกว่าแยกวัดใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแยกของถนนทางหลวงตัดกับถนนเส้นรองของถนนทางหลวงชนบท (ทช.) หรือทางหลวงท้องถิ่น คือ ถนนตั้งแต่สองสายขึ้นไปมาบรรจบหรือตัดกัน กลายเป็นบริเวณที่มีจุดขัดแย้งกระแสจราจร (Conflict Point) ซึ่งเป็นบริเวณที่ส่งผลกับปริมาณจราจรและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนั้น ทางแยกอันตรายยังเป็นทางแยกทางหลวงที่ไม่มีการติดตั้งป้ายเครื่องหมายจราจร สัญญาณไฟจราจร หรือทางแยกที่ไม่สามารถระบุได้ว่าทิศทางไหนเป็นทางหลักหรือทางรอง แล้วมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆหลายครั้ง

“จากการสำรวจพบว่ามีกว่า 1,412 แห่งทั่วไทย แบ่งเป็น 1.แยกวัดใจที่เป็น 3 แยก 950 แห่ง 2.แยกวัดใจ 4 แยก 374 แห่ง 3.แยกวัดใจ 5 แยก 2 แห่ง และ 4.แยกวัดใจที่เป็นรูปแบบอื่นๆอีก 86 แห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดปัญหาที่จะเกิดอุบัติเหตุ โดยจะเข้าไปดูแต่ละจุดว่าจุดไหนบ้างต้องปรับปรุงอะไร เนื่องจากแต่ละจุดจะมีความต้องการทางกายภาพ สิ่งอำนวยความปลอดภัย อุปกรณ์เสริมในการปรับปรุงไม่เหมือนกัน โดยภาพรวมหลักๆ จะ 1.ปรับปรุงป้ายจราจร เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง 2.ติดตั้งไฟสัญญาณจราจร และ 3.ปรับปรุงกายภาพของทางแยก (Channelize) ให้เกิดความปลอดภัยและสอดคล้องกับสภาพการจราจร ทั้งนี้ การปรับปรุงได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 65 ซึ่งมีการปรับปรุงไปแล้ว 19 แห่ง

ทั้งนี้ นอกจากการปรับปรุงแยกวัดใจแล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ยังได้มีนโยบายที่จะให้กรมทางหลวง ศึกษาและรวบรวมข้อมูล รวมถึงเร่งสำรวจทางแยกทั่วไทยที่มีปริมาณการจราจรมากเพื่อทำสะพานลอยข้ามแยก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากรณีเส้นทางหลักวิ่งทางตรงไม่ต้องติดไฟแดง โดยเบื้องต้นคาดว่าโครงการสะพานลอยข้ามแยกจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 67 ซึ่งเส้นทางแรกที่น่าจะนำมาปฏิบัติก่อนคือ ถนนเพชรเกษม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ