คาดรายได้พุ่งกว่า 4 หมื่นล้าน โอนสนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” ซบอก ทอท.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คาดรายได้พุ่งกว่า 4 หมื่นล้าน โอนสนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” ซบอก ทอท.

Date Time: 31 ส.ค. 2565 08:05 น.

Summary

  • คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยจะมีการศึกษาเพิ่มเติมตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ เช่น ความเป็นไปได้ของโครงการ เปรียบเทียบกรณี ทย.และกรณีที่ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร การคาดการณ์ประมาณการของผู้โดยสาร กรณี ทอท. เข้ามาดำเนินการ การประเมินแผนการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน, ประมาณการรายได้ รายจ่าย ผลตอบแทนทางการเงิน รวมถึงผลกระทบต่อ ทย.และ ทอท.หากแผนไม่เป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน ก่อนรายงาน ครม.อีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเมื่อ 3 สนามบินไปอยู่ในความดูแลของ ทอท.แล้วจะช่วยเสริมศักยภาพพร้อมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สนามบินอุดรธานีจะมีบทบาทเป็นสนามบินหลัก หรือ Gateway ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่ง ทอท.มีแนวทางการพัฒนาให้สนามบินอุดรธานีเป็นท่าอากาศยานระดับภาค และท่าอากาศยานศูนย์กลางรองในอนาคต โดยจะพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงร่วมกับสนามบินบุรีรัมย์ รองรับนโยบายสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ส่วนสนามบินกระบี่ เนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่กึ่งกลางของจังหวัดฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สามารถตอบสนองนโยบายด้านการท่องเที่ยวได้ และจะช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดของสนามบินภูเก็ตที่มีข้อจำกัดในการขยาย

“ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาสนามบินทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุน 9,199.90 ล้านบาท (กรณีสนามบินพังงา เปิดให้บริการในปี 74) หรือวงเงินรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีสนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ) แยกเป็นสนามบินอุดรธานี 3,523 ล้านบาท สนามบินบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท ส่วนสนามบินกระบี่ กรณีสนามบินพังงา เปิดให้บริการในปี 74 วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 5,216 ล้านบาท และสนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ