คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2565 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 รวมครึ่งปีแรก 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 คาดว่า เศรษฐกิจปี 2565 ทั้งปีจะขยายตัวในช่วง 2.7-3.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ประมาณ 3% เท่ากับประมาณการครั้งที่ผ่านมา แต่มีการปรับช่วงประมาณการให้แคบลงจาก 2.5–3.5% เป็น 2.7-3.2% การขยายตัวสูงขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 เมื่อรวมจีดีพีปี 2563 ที่ติดลบไป –6.2% จีดีพีไทย 3 ปี รวมกันยังขาดทุนอยู่อีก 1.7% เมื่อเทียบกับปี 2562
เมื่อนำไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนแล้ว เราแพ้เขาหลุดลุ่ย สิงคโปร์ จีดีพีไตรมาส 1 โต 3.8% ไตรมาส 2 โต 4.4% มาเลเซีย จีดีพีไตรมาส 1 โต 5.0% ไตรมาส 2 โต 8.9% เวียดนาม จีดีพีไตรมาส 1 โต 5.1% ไตรมาส 2 โต 7.7% ฟิลิปปินส์ จีดีพีไตรมาส 1 โต 8.2% ไตรมาส 2 โต 7.4% อินโดนีเซีย จีดีพีไตรมาส 1 โต 5.0% ไตรมาส 2 โต 5.4%
ฝีมือบริหารประเทศของ รัฐบาลบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถทำได้แค่นี้ยังมาคุยอวดอีก คุณไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกสำนักนายกฯ แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานของสภาพัฒน์แล้ว “นายกรัฐมนตรีพอใจที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องมาได้ 3 ไตรมาสแล้ว” ขณะเดียวกัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เพิ่มจำนวน “บัตรคนจน” จาก 13 ล้านคนปีที่แล้ว เป็น 15-16 ล้านคนในปีนี้ แสดงว่าครึ่งปีที่ผ่านมามีคนจนตามนิยามของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ล้านคน จากการบริหารประเทศอันยอดเยี่ยมของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ
และเดือนหน้าเป็นต้นไป รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไฟเขียวให้ ขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้าอีกหน่วยละ 93.43 สตางค์ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ห้างร้านและโรงงานที่ใช้ไฟมากต้องจ่ายมากกว่าหน่วยละ 4.72 บาท เพราะค่าไฟจะแพงขึ้นตามปริมาณที่ใช้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าบริการแพงขึ้นไปด้วย ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนก็คือ ประชาชนทั้งประเทศและผู้ถือบัตรคนจน 15-16 ล้านคน ปีหน้าอาจจะต้องเพิ่มจำนวนบัตรคนจนก็ได้
ปัจจัยสนับสนุน ที่ทำให้ จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.5% มาจาก 3 ตัวหลักคือ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของผู้บริโภคในประเทศ การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว และ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเกษตร
แต่ ปัจจัยเสี่ยง น่ากลัวกว่าเยอะ เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก (โชคดีที่แบงก์ชาติสะสมทุนสำรองไว้มากทำให้มีทุนสำรองแข็งแกร่ง) ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย (ฉุดให้การบริโภคในประเทศลดลง) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการระบาดของโรคฝีดาษลิง (สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นต่อกระทรวงสาธารณสุข) และ ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัย (ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พี่ใหญ่ของพี่น้อง 3 ป. คสช.)
ประเด็นใหญ่ที่ คุณดนุชา เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นห่วงก็คือ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 เป็นเรื่องใหญ่ที่ สภาพัฒน์ จะต้อง “ทำความเข้าใจ” กับ นายกฯตู่ ให้ดีว่า “เศรษฐกิจมหภาคสำคัญไฉน” ไม่ใช่มีแค่ แจกเงิน แก้หนี้ แจกบัตรคนจน แต่หมายถึง รายได้ประชาชน รายได้ประเทศ การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ที่ไม่ใช่มีแค่ บีโอไอ หรือ การลดหย่อนภาษี ไม่ง่ายเหมือนหาร 100 หาร 500
นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้นำเศรษฐกิจรอบด้าน ไม่ใช่ทำงานเหมือนข้าราชการสูงอายุคนหนึ่ง ทำงานที่ทำเนียบเสร็จก็กลับบ้านทุกวัน อย่างที่คุยวันก่อน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”